วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2558

หลักสูตรการคัดเลือก ครูผู้ช่วย สอศ. 58

หลักสูตรการคัดเลือกบุคคล เพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

ภาค ก. ความรอบรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับความประพฤติและการปฏิบัติของวิชาชีพครู (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)

1.      ความรอบรู้ (คะแนนเต็ม 50 คะแนน) ทดสอบโดยวิธีสอบข้อเขียนแบบปรนัยในเรื่องต่อไปนี้
1.1    สังคม เศรษฐกิจ การเมืองและเหตุการณ์ปัจจุบัน
1.2    นโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา
1.3    วัฒนธรรมไทยและขนบธรรมเนียมประเพณีไทย
1.4    กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติราชการ
1.4.1          พรบ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม
1.4.2          พรบ. ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546
1.4.3          พรบ. สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546
1.4.4          พรบ. ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และแก้ไขเพิ่มเติม
1.4.5          พรบ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546
1.4.6          พรบ. การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2551
1.4.7          กฎหมาย กฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์และวิธีการที่เกี่ยวข้องกำสำนักงานคณะกรรมการ การอาชีวศึกษา (กฏหมายการบริหารและการจัดการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา)
1.5 ความรู้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน
2.      ความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับความประพฤติและการปฏิบัติของวิชาชีพครู (คะแนนเต็ม 50 คะแนน) ให้ทดสอบโดยวิธีสอบข้อเขียนแบบปรนัยในเรื่อวต่อไปนี้
2.1    วินัยและการรักษาวินัย
2.2    คุณธรรม จริยธรรม และค่านิยม
2.3    มาตรฐานวิชาชีพ
2.4    จรรยาบรรณวิชาชีพ
2.5    สมรรถนะวิชาชีพ


ภาค ข. ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)

1.      ความรู้ความสามารถเกี่ยวกับวิชาการศึกษา (คะแนนเต็ม 50 คะแนน) ให้ทดสอบโดยวิธีสอบข้อเขียนแบบปรนัยในเรื่องต่อไปนี้
1.1    หลักสูตรและการพัฒณาหลักสูตร
1.2    หลักการสอนที่เน้นการคิดวิเคราะห์และการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
1.3    จิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว
1.4    การพัฒนาผู้เรียน
1.5    การบริหารจัดการชั้นเรียน
1.6    การวิจัยทางการศึกษา
1.7    สื่อ นวรรตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา
1.8    การวัดและประเมินผลการศึกษา

2.      ความรู้ความสามารถเกี่ยวกับวิชาเอก (คะแนนเต็ม 50 คะแนน) ให้ทดสอบโดยวิธีสอบข้อเขียนแบบปรนัย และหรือภาคปฏิบัติเกี่ยวกับความรู้ในเนื้อหากลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก


ภาค ค. ความเหมะสมกับตำแหน่งและวิชาชีพ (คะแนนเต็ม 100 คะแนน) ให้ประเมินโดยวิธีการสัมภาษณ์ สังเกต ตรวจสอบเอกสาร หรือวิธีอื่นที่เหมาะสมโดยประเมินจาก

1.    ประวัติและผลงานซึ่งได้รับการับรองจากผู้อำนวยการสถานศึกษา (50 คะแนน)

2.    สัมภาษณ์ (50 คะแนน)

 9exam



1. ความรอบรู้ (คะแนนเต็ม 50 คะแนน)

1.1 สังคม เศรษฐกิจ การเมืองและเหตุการณ์ปัจจุบัน



สรุปคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันศุกร์ที่ 12 กันยายน 2557 โดยนโยบายด้านการศึกษาได้กำหนดไว้ในข้อที่ 4. การศึกษาและเรียนรู้ การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม

ในด้านการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลมีนโยบาย 11 ด้าน โดยได้นำยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศว่าด้วยการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นหลักสำคัญ ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งทรงเน้นความพอดีพอสมพอควรแก่ฐานะ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันมาเป็นแนวคิด ใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 แนวทางของ คสช. และความต้องการของประชาชน เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบาย ซึ่งนโยบายทุกด้านต้องการสร้างความเข้มแข็งแก่องค์กรการปกครองทุกระดับ ตั้งแต่ท้องถิ่นถึงประเทศ ต้องการเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนและต้องการให้ประชาชนเกิดความชัดเจน รู้ล่วงหน้าว่าประเทศจะก้าวทางไหน เพื่อเตรียมตัวได้ถูกต้อง

นโยบายรัฐบาล 11 ด้าน คือ 
1) การปกป้องเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์  
2) การรักษาความมั่นคงของประเทศ 
3) การลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ 
4) การศึกษาและเรียนรู้ การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม 
5) การยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุข และสุขภาพของประชาชน 
6) การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ 
7) การส่งเสริมบทบาทและใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน 
8) การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม 
9) การรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากร และการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน 
10) การส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ 
11) ปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรร

4. การศึกษาและเรียนรู้ การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
รัฐบาลจะนำการศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ และความเป็นไทย มาใช้สร้างสังคมให้เข้มแข็งอย่างมีคุณภาพและคุณธรรมควบคู่กัน ดังนี้
4.1 จัดให้มีการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ โดยให้ความสำคัญทั้งการศึกษาในระบบ และการศึกษาทางเลือกไปพร้อมกัน เพื่อสร้างคุณภาพของคนไทยให้สามารถเรียนรู้ พัฒนาตนได้เต็มตามศักยภาพ ประกอบอาชีพและดำรงชีวิตได้โดยมีความใฝ่รู้และทักษะที่เหมาะสม เป็นคนดีมีคุณธรรม สร้างเสริมคุณภาพการเรียนรู้ โดยเน้นการเรียนรู้เพื่อสร้างสัมมาชีพในพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนากำลังคนให้เป็นที่ต้องการเหมาะสมกับพื้นที่ ทั้งในด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และธุรกิจบริการ
4.2 ในระยะเฉพาะหน้า จะปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการศึกษาให้สอดคล้องกับความจำเป็นของผู้เรียนและลักษณะพื้นที่ของสถานศึกษา และปรับปรุง และบูรณาการระบบการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มโอกาสแก่ผู้ยากจนหรือด้อยโอกาส จัดระบบการสนับสนุนให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปมีสิทธิเลือกรับบริการการศึกษาทั้งในระบบโรงเรียนและนอกโรงเรียน โดยจะพิจารณาจัดให้มีคูปองการศึกษาเป็นแนวทางหนึ่ง
4.3 ให้องค์กรภาคประชาสังคม ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนทั่วไป มีโอกาสร่วมจัดการการศึกษาที่มีคุณภาพและทั่วถึง และร่วมในการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ กระจายอำนาจการบริหารจัดการศึกษาสู่สถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามศักยภาพและความพร้อม โดยให้สถานศึกษาสามารถเป็นนิติบุคคลและบริหารจัดการได้อย่างอิสระและคล่องตัวขึ้น
4.4 พัฒนาคนทุกช่วงวัยโดยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้สามารถมีความรู้และทักษะใหม่ที่สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายตามแนวโน้มการจ้างงานในอนาคต ปรับกระบวนการเรียนรู้และหลักสูตรให้เชื่อมโยงกับภูมิสังคม โดยบูรณาการความรู้และคุณธรรมเข้าด้วยกันเพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียนทั้งในด้านความรู้ ทักษะ การใฝ่เรียนรู้ การแก้ปัญหา การรับฟังความเห็นผู้อื่น การมีคุณธรรม จริยธรรม และความเป็นพลเมืองดี โดยเน้นความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งในและนอกโรงเรียน
4.5 ส่งเสริมอาชีวศึกษาและการศึกษาระดับวิทยาลัยชุมชน เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะ โดยเฉพาะในท้องถิ่นที่มีความต้องการแรงงาน และพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาให้เชื่อมโยงกับมาตรฐานวิชาชีพ
4.6 พัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูที่มีคุณภาพและมีจิตวิญญาณของความเป็นครู เน้นครูผู้สอนให้มีวุฒิตรงตามวิชาที่สอน นำเทคโนโลยีสารสนเทศและเครื่องมือที่เหมาะสมมาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยครูหรือเพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง เช่น การเรียนทางไกล การเรียนโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น รวมทั้งปรับระบบการประเมินสมรรถนะที่สะท้อนประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ
4.7 ทะนุบำรุงและอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ สนับสนุนให้องค์กรทางศาสนามีบทบาทสำคัญในการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างสันติสุขและความปรองดองสมานฉันท์ในสังคมไทยอย่างยั่งยืน และมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมตามความพร้อม
4.8 อนุรักษ์ ฟื้นฟู และเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรม ภาษาไทยและภาษาถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งความหลากหลายของศิลปวัฒนธรรมไทย เพื่อการเรียนรู้ สร้างความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์และความเป็นไทย นำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์อันดีในระดับประชาชน ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ ตลอดจนเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ
4.9 สนับสนุนการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ วัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้านและวัฒนธรรมสากล และการสร้างสรรค์งานศิลปะและวัฒนธรรมที่เป็นสากล เพื่อเตรียมเข้าสู่เสาหลักวัฒนธรรมของประชาคมอาเซียนและเพื่อการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก
4.10 ปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึกที่ดี รวมทั้งสนับสนุนการผลิตสื่อคุณภาพ เพื่อเปิดพื้นที่สาธารณะให้เยาวชนและประชาชนได้มีโอกาสแสดงออกอย่างสร้างสรรค์

หมายเหตุ อย่างไรก็ตาม นอกจากจะเป็นนโยบายเฉพาะดังกล่าวแล้ว แต่การศึกษาต้องดำเนินการควบคู่ไปในส่วนของนโยบายด้านอื่นๆ ของรัฐบาลด้วย

ทั้งนี้ เมื่อการแถลงนโยบายสิ้นสุดลงแล้ว รัฐบาลจะมอบหมายให้ทุกส่วนราชการจัดทำแผนปฏิบัติราชการดังกล่าว โดยจำกัดกรอบเวลา 1 ปีตามปีงบประมาณ และระยะเวลาของรัฐบาล โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นผู้ติดตามและรายงานผลการดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรีและ สนช.ต่อไป


แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕๒๕๕๙)

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕๒๕๕๙) ได้จัดทำขึ้นในช่วงเวลาที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกว่าช่วงที่ผ่านมา ในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘๑๐ สังคมไทยได้อัญเชิญหลัก"ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ไปประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับปัจเจก ครอบครัวชุมชน สังคม จนถึงระดับประเทศ ซึ่งได้มีส่วนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและช่วยให้สังคมไทยสามารถยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคงท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ ทุกภาคส่วนในสังคมไทยเห็นพ้องร่วมกันน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งให้เกิดภูมิคุ้มกันและมีการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสม เพื่อให้การพัฒนาประเทศสู่ความสมดุลและยั่งยืน

ในการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ ครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วน ทั้งในระดับชุมชน ระดับภาค และระดับประเทศในทุกขั้นตอนของแผนฯ อย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์และทิศทางการพัฒนาประเทศ รวมทั้งร่วมจัดทำรายละเอียดยุทธศาสตร์ของแผนฯ เพื่อมุ่งสู่ "สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง"

การพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ จึงเป็นการนำภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ พร้อมทั้งเร่งสร้างภูมิคุ้มกันในประเทศให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมคน สังคม และระบบเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถปรับตัวรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนและสังคมไทยให้มีคุณภาพ มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากร และได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นธรรม รวมทั้งสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจด้วยฐานความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ บนพื้นฐานการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ยังจำเป็นต้องบริหารจัดการแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ ให้บังเกิดผลในทางปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้หลักการพัฒนาพื้นที่ภารกิจ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมไทย ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเพื่อประโยชน์สุขที่ยั่งยืนของสังคมไทยตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สำนักนายกรัฐมนตรี

1.2 นโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา



นโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘

๕ นโยบายทั่วไป ๗ นโยบายเฉพาะ ๑๐ นโยบายเร่งด่วน


๕ นโยบายทั่วไป
๑. การพัฒนาและปฏิรูปการศึกษา จะต้องยึดหลักการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจ และความต้องการของทุกภาคส่วนในสังคม มีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งเป็นไปตามกระบวนการของสภาปฏิรูปแห่งชาติและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และแนวนโยบายของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้การดำเนินงานเป็นที่ยอมรับและเกิดความมั่นคงยั่งยืนในระบบการศึกษาของไทย
๒. การสร้างโอกาสทางการศึกษาในสังคมไทย จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยการน้อมนำแนวทางการพัฒนาระบบการจัดการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มได้มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ได้โดยสะดวก และสามารถพัฒนาและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างเท่าเทียม
๓. การพัฒนาระบบการจัดการศึกษาและการพัฒนาหลักสูตรทางการศึกษา จะต้องให้ความสำคัญกับการยกระดับความรู้ให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และปลูกฝังคุณธรรม การสร้างวินัย ปลูกฝังอุดมการณ์ความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ การมีจิตสาธารณะ ความตระหนักถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าส่วนตน และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในหลักการประชาธิปไตย เคารพความคิดเห็นของผู้อื่น ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิด อุดมการณ์ และความเชื่อ รวมทั้งรู้คุณค่าและสืบสานวัฒนธรรมและขนบประเพณีอันดีงามของไทย
๔. การส่งเสริมและยกสถานะของครูซึ่งเป็นบุคลากรหลักในระบบการศึกษา จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงในสังคม เป็นบุคลากรที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม มีภูมิความรู้และทักษะในการสื่อสารถ่ายทอดความรู้ที่เหมาะสม มีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพครู ตลอดจนมีฐานะและคุณภาพชีวิตที่ดีสอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมไทยในปัจจุบัน
๕. การบริหารและการปฏิบัติราชการกระทรวงในทุกระดับ จะต้องให้ความสำคัญกับการบูรณาการการปฏิบัติของทุกหน่วยงานในสังกัดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและประสานสอดคล้องกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ปราศจากการทุจริตคอรัปชั่น ตลอดจนให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับงานด้านการศึกษาที่ถูกต้อง รวดเร็ว และตรงกับความต้องการของสังคม

๗ นโยบายเฉพาะ (ดำเนินการให้เห็นผลใน ๑ ปี)
๑. การพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๑.๑ การพัฒนาการศึกษาและพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษามีความเหมาะสมกับพื้นที่
๑.๒ สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยอาศัยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ และแก้ไขปัญหาการอ่านภาษาไทยไม่ออกและเขียนไม่ได้ของนักเรียนในพื้นที่อย่างจริงจัง
๑.๓ สามารถพัฒนาระบบการให้ค่าตอบแทน สิ่งจูงใจและสวัสดิการ สำหรับบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่เสี่ยงภัยได้อย่างเหมาะสม
๑.๔ มีมาตรการด้านความปลอดภัยที่ชัดเจนสำหรับนักเรียนนักศึกษา ครูอาจารย์ และสถานศึกษาโดยการบูรณาการแผนและการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่
๑.๕ มีกิจกรรมสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาและการจัดการศึกษาโรงเรียนเอกชนในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมทั้งกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ เพิ่มพูนประสบการณ์ เปิดโลกทัศน์และสร้างความหวัง การยึดมั่นในหลักคุณธรรมและสถาบันหลักของชาติ ให้กับนักเรียนนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง
๑.๖ สามารถเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับองค์การระหว่างประเทศโดยเฉพาะองค์การสหประชาชาติและยูเนสโก ประเทศกลุ่มประชาชาติมุสลิม ประเทศเพื่อนบ้าน และสื่อมวลชน อย่างต่อเนื่อง

๒. การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.๒๕๕๘ และการดำรงความต่อเนื่องภายหลังการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๒.๑ โครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาของภาครัฐและเอกชน นักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา มีความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.๒๕๕๘
๒.๒ มีกิจกรรมการเรียนรู้ ขยายความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือทางการศึกษา และการแลกเปลี่ยนทางการศึกษา กับประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างต่อเนื่อง
๒.๓ สามารถพัฒนาและเสริมทักษะด้านภาษาอังกฤษและภาษาประเทศสมาชิกอาเซียน สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียน การยอมรับในความแตกต่างหลากหลายในลักษณะพหุสังคมวัฒนธรรม และให้ความเคารพในอุดมการณ์ความเชื่อบนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ให้กับนักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาทุกระดับ ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

๓. การพัฒนาศักยภาพการแข่งขันและสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๓.๑ มีแนวทางการส่งเสริมและดำเนินการเพื่อปรับสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาและสามัญศึกษาให้เหมาะสมกับความต้องการกำลังคนในตลาดแรงงานรองรับการพัฒนาประเทศ
๓.๒ มีแนวทางการพัฒนาหลักสูตร ระบบการจัดการศึกษา และบุคลากรทางศึกษา รองรับทิศทางการพัฒนาประเทศโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นฐานการพัฒนา
๓.๓ มีกิจกรรมที่เป็นการส่งเสริมการวิจัย พัฒนา และการสร้างนวัตกรรมในสถาบันทางการศึกษา เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
๓.๔ มีแผนงานและโครงการเพื่อส่งเสริมการผลิตกำลังคนด้านการอาชีวศึกษาตอบสนองต่อภาคการผลิตสินค้าและอาหาร ภาคการท่องเที่ยว ภาคการบริการ ภาคการขนส่ง บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล และอื่น ๆ ในสาขาที่มีความขาดแคลน ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการจัดทำความตกลงร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนการผลิต การพัฒนาระบบการจัดการ และการพัฒนากำลังคน ทั้งระบบ
๓.๕ มีกิจกรรมเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการเผยแพร่ความรู้และการพัฒนาต่อยอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ วิสาหกิจ การประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจ ควบคู่ไปกับการเผยแพร่องค์ความรู้และแนวทางการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับการดำเนินชีวิตประจำวันในการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบอย่างเป็นรูปธรรม

๔. การมุ่งเน้นการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพ

เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๔.๑ มีแนวทางการพัฒนาระบบการผลิตครูให้เพียงพอต่อความต้องการและเหมาะสมกับอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และปรับระบบการรับรองมาตรฐานวิชาชีพครูให้เอื้อต่อการเพิ่มโอกาสให้มีบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ที่เหมาะสมเข้ามาในระบบการศึกษา
๔.๒ ระบบการบริหารงานบุคคล การย้ายบรรจุ และการประเมินวิทยฐานะของครูและบุคลากรทางการศึกษา มีมาตรฐานระดับสากล สามารถเพิ่มศักยภาพในการให้การศึกษาและลดภาระงานที่ไม่จำเป็นรวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานตามภารกิจหลัก
๔.๓ ครูและบุคลากรทางการศึกษามีจิตวิญญาณของความเป็นครู การเป็นครูมืออาชีพ และยึดมั่นในจรรยาบรรณของวิชาชีพ
๔.๔ สามารถกำหนดแนวทางการพัฒนาตามเส้นทางวิชาชีพและความก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้อย่างเป็นระบบ มีระบบสนับสนุนการพัฒนาตนเองและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ในการระบบคลังความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการประเมินผล อย่างเป็นรูปธรรม
๔.๕ มีแผนงานและโครงการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา โดยการพัฒนาระบบสวัสดิการที่มุ่งการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือที่ยั่งยืน และให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างเป็นระบบ

๕. การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาให้ทันสมัย

เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๕.๑ น้อมนำแนวทางการพัฒนาระบบการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นหลักในการดำเนินแผนงานและโครงการในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
๕.๒ การดำเนินแผนงานและโครงการในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา จะต้องพิจารณาถึงความพร้อมและความเหมาะสมกับหลักสูตรและระดับการเรียนการสอน ความคุ้มค่า ความจำเป็นในการลดอุปสรรคและเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ การยกระดับคุณภาพการศึกษา รวมทั้งความเท่าเทียมและครอบคลุมพื้นที่
๕.๓ มีแผนงานและโครงการในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนการเรียนการสอนอย่างเต็มรูปแบบ โดยขยายโรงเรียนนำร่องในการจัดทำห้องเรียน Smart Classroom ออกสู่ส่วนภูมิภาคมากขึ้น
๕.๔ สามารถใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการและบูรณาการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เครือข่ายต่าง ๆ เชื่อมโยงกับสถิติข้อมูลทางการศึกษา และประมวลผลข้อมูลที่จำเป็นสำหรับใช้ประกอบการตัดสินใจในการบริหารทรัพยากรทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

๖. การเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ของกระทรวงศึกษาธิการ

เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๖.๑ สามารถถ่ายทอดนโยบายพื้นฐานและนโยบายเร่งด่วนของคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับด้านการศึกษาลงสู่แผนปฏิบัติราชการประจำปี เพื่อให้การนำสู่การปฏิบัติสามารถดำเนินการได้อย่างชัดเจนและติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง
๖.๒ สามารถสื่อสารถ่ายทอดให้ทุกหน่วยงานและบุคลากรทุกระดับมีความรู้และความเข้าใจในสาระสำคัญของแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘ และพัฒนาตัวชี้วัดที่ชัดเจนเพื่อประสิทธิภาพในการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ ภายในช่วงเดือนแรกของปีงบประมาณ เพื่อให้การปฏิบัติราชการในภาพรวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
๖.๓ หน่วยงานส่วนกลางสามารถให้การสนับสนุนทรัพยากรอย่างเพียงพอในการปฏิบัติราชการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ของหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่
๖.๔ มีระบบการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และการรายงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การได้ข้อมูลสารสนเทศที่ถูกต้องและรวดเร็ว เพื่อการทบทวนและปรับปรุงการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายได้ทันต่อเหตุการณ์
๖.๕ สามารถติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการปฏิบัติราชการและผลการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นรายไตรมาสได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถกำหนดมาตรการเพื่อปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานและแก้ไขปัญหาอย่างทันต่อสถานการณ์ มีระบบวิเคราะห์ประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณและจัดทำแผนเพิ่มประสิทธิภาพ รวมทั้งมีระบบการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด

๗.การดำเนินการตามแผนการศึกษาแห่งชาติและการปฏิรูปการศึกษา

เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๗.๑ มีความก้าวหน้าในการดำเนินการตามแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับปรับปรุง ครั้งที่ ๒ และเป็นไปตามเป้าหมายเมื่อสิ้นสุดแผนฯ ปี พ.ศ.๒๕๕๙ และสามารถดำเนินการจัดทำร่างแผนการศึกษาแห่งชาติในห้วงระยะเวลาต่อไป
๗.๒ มีแผนงานและโครงการในการจัดและส่งเสริมการศึกษา โดยเฉพาะการดำเนินการต่อเนื่องของการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบให้เชื่อมโยงกันทั้งการปฏิรูปหลักสูตรและการปฏิรูปการเรียนการสอนกับการเรียนรู้ยุคใหม่ ปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครู การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับการปฏิรูปการเรียนรู้ การยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่มาตรฐานสากล และการส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการจัดและสนับสนุนการศึกษา
๗.๓ สามารถติดตามรายละเอียดแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และแนวนโยบายของคณะรัฐมนตรี ได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถรายงานสรุปความก้าวหน้าเป็นรายไตรมาส รวมทั้งสามารถวางแนวทางรองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงโครงสร้าง ระบบงาน กฎหมาย ระบบการบริหารจัดการ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้อย่างเป็นระบบ



๑๐ นโยบายเร่งด่วน (ดำเนินการให้เห็นผลใน ๓ เดือน)

๑. เร่งสำรวจและให้ความช่วยเหลือเยียวยา รวมทั้งฟื้นฟูโรงเรียน สถานศึกษา นักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัย โดยเร็ว
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย : โรงเรียน สถานศึกษา นักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟู ให้สามารถทำการเรียนการสอนได้ตามปกติอย่างรวดเร็ว

๒. เร่งแก้ไขปัญหาความรุนแรงและเหตุทะเลาะวิวาทของนักศึกษาอาชีวะศึกษาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๒.๑ มีการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนและมีการปฏิบัติอย่างจริงจัง
๒.๒ ไม่มีเหตุทะเลาะวิวาทของนักศึกษาอาชีวะศึกษาจนส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั่วไป/จำนวนเหตุทะเลาะวิวาทของนักศึกษาอาชีวะศึกษาในช่วง ๓ เดือนลดลงอย่างชัดเจน

๓. เร่งสร้างค่านิยมอาชีวศึกษา ปรับภาพลักษณ์ และกำหนดมาตรการเพื่อจูงใจให้นักเรียนนักศึกษา พ่อแม่และผู้ปกครอง มีความยินดีและส่งเสริมให้บุตรหลานเข้ารับการศึกษาในสายอาชีพอาชีวศึกษาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะวิชาชีพที่ขาดแคลนและเป็นความต้องการของตลาดแรงงาน
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๓.๑ มีกิจกรรมเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของการศึกษาในสายอาชีพอาชีวศึกษาอย่างต่อเนื่อง
๓.๒ มีการกำหนดแผนงานหรือมาตรการเพื่อจูงใจในการเข้ารับการศึกษาสายอาชีพอาชีวศึกษา โดยเฉพาะวิชาชีพที่ขาดแคลน และมีระบบการติดตาม ควบคุม อย่างเป็นระบบและชัดเจน

๔. ทบทวนหลักสูตร การเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนากระบวนการคิด วิเคราะห์ มีเวลาทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถ ทักษะ และประสบการณ์ รวมทั้งปลูกฝังในเรื่องค่านิยมหลัก มีคุณธรรม จริยธรรม สร้างวินัย จิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม การยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความภาคภูมิใจในการเป็นคนไทย
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๔.๑ มีแนวทางปรับปรุงหลักสูตรให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนากระบวนการคิด ทักษะ ความสามารถอย่างรอบด้านทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคมสติปัญญา การปลูกฝังค่านิยม ๑๒ ประการ การเรียนรู้ประสบการณ์จากการทำกิจกรรม ฝึกปฏิบัติอย่างเหมาะสม แต่ละช่วงวัย และการวางพื้นฐานเพื่อการทำงาน การศึกษาเพื่ออาชีพ
๔.๒ นำร่องรูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาที่ดี และผลักดันกฎหมายที่จะเป็นรากฐานและกลไกการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาระยะยาว

๕. เร่งพิจารณาทบทวนการอุดหนุนรายหัวแก่นักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งของภาครัฐและเอกชน การช่วยเหลือค่าอุปกรณ์การเรียนของนักเรียนสายอาชีพ อาชีวศึกษา และการช่วยเหลือเด็กยากจน พิการ และด้อยโอกาส
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๕.๑ มีกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบและสามารถเสนอขออนุมัติ/เห็นชอบได้ตามขั้นตอนตามกฎหมายและกฎระเบียบที่กำหนด
๕.๒ สามารถให้การอุดหนุนและการช่วยเหลือมีความเหมาะสมกับสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

๖. เร่งขยายบทบาทของภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมในระบบการศึกษา โดยเฉพาะการจัดทำข้อตกลงระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจเอกชนในการให้การสนับสนุนและการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าทำงานหลังสำเร็จการศึกษา และการสนับสนุนอื่น ๆ ให้เพิ่มมากขึ้น
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๖.๑ มีแนวทางและมาตรการจูงใจภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในระบบการศึกษา
๖.๒ มีการจัดทำข้อตกลงกับผู้ประกอบการธุรกิจเอกชนในการให้การสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น

๗. เร่งปรับระบบการบรรจุครูและการรับรองมาตรฐานวิชาชีพครูให้เอื้อต่อการเพิ่มโอกาสให้มีบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ที่เหมาะสมเข้ามาในระบบการศึกษาเพิ่มมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูและบุคลากรอาชีวศึกษา และครูสาขาขาดแคลนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๗.๑ มีกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบและสามารถเสนอขออนุมัติ/เห็นชอบได้ตามขั้นตอนตามกฎหมายและกฎระเบียบที่กำหนด รวมถึงปรับแก้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ
๗.๒ สามารถปรับระบบการบรรจุครูและการรับรองมาตรฐานวิชาชีพครูให้เอื้อต่อการเพิ่มโอกาสให้มีบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์เข้ามาในระบบการศึกษาเพิ่มมากขึ้น

๘. เร่งทบทวนมาตรการการจัดกิจกรรมรับน้องของนักเรียนนักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และมาตรการติดตาม ควบคุม การลักลอบการจัดกิจกรรมรับน้องทั้งภายในและภายนอกสถาบันการศึกษา ให้เป็นไปในแนวทางที่สร้างสรรค์ ปลอดภัย ปราศจากการใช้ความรุนแรง การละเมิดและคุกคามทางเพศ รวมทั้งไม่ขัดต่อหลักศีลธรรมขนบประเพณีอันดีงาม และเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยให้มีผลบังคับใช้ให้ทุกสถาบัน การศึกษายึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๘.๑ มีกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบและสามารถเสนอขออนุมัติ/เห็นชอบได้ตามขั้นตอนตามกฎหมายและกฎระเบียบที่กำหนด
๘.๒ มีมาตรการและแนวทางที่ชัดเจนและมีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

๙. เร่งทบทวนมาตรการความปลอดภัยสำหรับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมทัศนศึกษานอกสถานศึกษา และมาตรการความปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่งเป็นหมู่คณะของนักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา โดยให้มีผลบังคับใช้ให้ทุกสถาบันการศึกษายึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๙.๑ มีกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบและสามารถเสนอขออนุมัติ/เห็นชอบได้ตามขั้นตอนตามกฎหมายและกฎระเบียบที่กำหนด
๙.๒ มีมาตรการและแนวทางที่ชัดเจนและมีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

๑๐. เร่งดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับด้านการศึกษาทั้งที่เป็นหน่วยรับผิดชอบหลักและหน่วยสนับสนุน ให้เห็นผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นไปตามเป้าหมายและกรอบระยะเวลาที่กำหนด
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๑๐.๑ มีการกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนที่ชัดเจน
๑๐.๒ มีการกำหนดตัวชี้วัด ค่าเป้าหมาย แผนงาน โครงการ และกิจกรรม รองรับอย่างเป็นรูปธรรม
๑๐.๓ มีระบบการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และการรายงานผลที่มีประสิทธิภาพ โดยสามารถรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง
๑๐.๔ มีระบบการวิเคราะห์และประมวลผล เพื่อกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบทางลบได้อย่างรวดเร็ว และสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนด
๑๐.๕ สามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัยต่อคณะรัฐมนตรีและสังคมได้อย่างรวดเร็ว



การขับเคลื่อนและกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย


๑. นโยบายทั่วไปเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานทั้งปวงของทุกหน่วยงานและบุคลากรในสังกัดของ ศธ.
๒. สป. ดำเนินการทบทวนตัวชี้วัด กลยุทธ์ และแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ในแผนปฏิบัติราชการประจำปี ๒๕๕๘ รองรับการดำเนินงานและการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัตินโยบายของคณะรัฐมนตรีและนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประจำปี (นโยบายเฉพาะและนโยบายเร่งด่วน) ออกแบบกระบวนการ กลไก และแนวทางการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล รวมทั้งสื่อสารถ่ายทอดให้หน่วยปฏิบัติได้รับทราบทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อให้การนำสู่การปฏิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนแรกของปีงบประมาณ ๒๕๕๘
๓. หน่วยปฏิบัติที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนและดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด
๔. สป. ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และรายงานสรุปนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศึกษาธิการ เพื่อกรุณาทราบผลการปฏิบัติตามนโยบาย รวมทั้งปัญหาอุปสรรค ข้อขัดข้อง และข้อเสนอแนะ ดังนี้
๔.๑ จัดทำรายงานและสรุปผลการปฏิบัติตามนโยบายเฉพาะ ในเดือนสุดท้ายทุกไตรมาสของปีงบประมาณ ๒๕๕๘ (ก่อนวันจันทร์สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ธ.ค.๕๗ และ มี.ค. มิ.ย. ก.ย.๕๘)
๔.๒ จัดทำรายงานและสรุปผลการปฏิบัติตามนโยบายเร่งด่วน ทุกเดือนตลอด ๓ เดือนแรกของปีงบประมาณ ๒๕๕๘ (ก่อนวันจันทร์สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ต.ค. พ.ย. และ ธ.ค.๕๗)
๔.๓ การจัดทำรายงานและสรุปผลการปฏิบัติ ตามข้อ ๔.๑ และ ๔.๒ อาจมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะมีการสั่งการให้ทราบเพื่อให้การดำเนินการเกิดความเหมาะสมต่อไป

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
กันยายน ๒๕๕๗

นโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๘ ดังนี้

๑. เร่งรัดปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบ และกระบวนการการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย ทันเหตุการณ์ ทันโลก ให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
๒. เร่งพัฒนาความแข็งแกร่งทางการศึกษา ให้ผู้เรียนทุกระดับทุกประเภทรวมถึงเด็กพิการ และด้อยโอกาส มีความรู้ และทักษะแห่งโลกยุคใหม่ควบคู่กันไปโดยเฉพาะทักษะการอ่าน เขียน และการคิด เพื่อให้มีความพร้อมเข้าสู่การศึกษาระดับสูง และโลกของการทำงาน
๓. เร่งปรับระบบสนับสนุนการจัดการศึกษา ที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน มีการประสานสัมพันธ์กับเนื้อหา ทักษะ และกระบวนการเรียนการสอนประกอบไปด้วย มาตรฐานและการประเมิน หลักสูตรและการสอน การพัฒนาทางวิชาชีพ สภาพแวดล้อม การเรียนรู้
๔. ยกระดับความแข็งแกร่งมาตรฐานวิชาชีพครูและผู้บริหารสถานศึกษา  ให้ครูเป็นผู้ที่มีความสามารถและทักษะที่เหมาะสมกับการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน ผู้บริหารสถานศึกษามีความสามารถในการบริหารจัดการ และเป็นผู้นำทางวิชาการ ครูและผู้บริหารสถานศึกษาประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน สร้างความมั่นใจและไว้วางใจ ส่งเสริมให้รับผิดชอบต่อผลที่เกิดกับนักเรียน ที่สอดคล้องกับวิชาชีพ
๕. เร่งสร้างระบบให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เป็นองค์กรคุณภาพที่แข็งแกร่ง และมีประสิทธิภาพ มีความสามารถรับผิดชอบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพ และมาตรฐานได้เป็นอย่างดี
๖. เร่งรัดปรับปรุงโรงเรียนให้เป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็ง มีแรงบันดาลใจและมีวิสัยทัศน์ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ชัดเจน เป็นสถานศึกษาคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ที่สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล
๗. สร้างระบบการควบคุมการจัดการการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา  ที่มีข้อมูล สารสนเทศ และข่าวสาร เกี่ยวกับกระบวนการเรียนการสอนอย่างพร้อมบริบูรณ์ และมีนโยบายการประเมินผลอย่างเป็นรูปธรรม
๘. สร้างวัฒนธรรมใหม่ในการทำงาน เร่งรัดการกระจายอำนาจและความรับผิดชอบ ปรับปรุงระบบของโรงเรียน ให้เป็นแบบร่วมคิดร่วมทำการมีส่วนร่วม และการประสานงาน สามารถใช้เครือข่ายการพัฒนาการศึกษาระหว่างโรงเรียนกับโรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรวิชาชีพกลุ่มบุคคล องค์กรเอกชน องค์กรชุมชน และองค์กรสังคมอื่น
๙. เร่งปรับระบบการบริหารงานบุคคล มุ่งเน้นความถูกต้อง เหมาะสมและเป็นธรรม ให้เป็นปัจจัยหนุนในการเสริมสร้างคุณภาพและประสิทธิภาพขวัญและกำลังใจ สร้างภาวะจูงใจ แรงบันดาลใจ และความรับผิดชอบในความสำเร็จตามภาระหน้าที่
๑๐. มุ่งสร้างพลเมืองดี ที่ตื่นตัว และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมพหุวัฒนธรรมได้และทำให้การศึกษานำการแก้ปัญหาสำคัญของสังคม
๑๑. ทุ่มเทมาตรการเพื่อยกระดับคุณภาพสถานศึกษาที่พัฒนาล้าหลังและโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่ได้คุณภาพ เพื่อไม่ให้ผู้เรียนต้องเสียโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ


ที่มา : สำนักนโยบายและแผน สพฐ.
สาระสำคัญ : นโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 มี 11 ประการ คลิิก

แนวทางการบริหารจัดการ เวลาเรียน"ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้"
ศึกษาธิการ - พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับความคืบหน้าแนวทางการบริหารจัดการเวลาเรียนตามนโยบาย "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ (Moderate Class More Knowledge)" เมื่อวันอังคารที่ 22 กันยายน 2558 ที่ห้องประชุม MOC โดยมีพันเอก ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการแถลงข่าว
 
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการที่กระทรวงศึกษาธิการได้เริ่มดำเนินการวางแนวทางการบริหารจัดการเวลาเรียน ตามนโยบาย "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ (Moderate Class More Knowledge)" มาตั้งแต่สมัยพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จนกระทั่งมีการหารือและดำเนินการตามแผนมาเป็นระยะ พบว่ามี 4 เรื่องหลักที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้โครงการมีความสมบูรณ์ ดังนี้

1. หลักสูตร
ยืนยันกับผู้ปกครอง นักเรียน และครู ว่าจะไม่มีการเปลี่ยนหลักสูตร แต่จะใช้วิธีปรับปรุงใน 2 ส่วน คือ
เนื้อหาภายในแต่ละวิชาที่มีความซ้ำซ้อนจะต้องตัดออกไป โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อตัวชี้วัด ซึ่งได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติฯ (สทศ.) ในฐานะผู้จัดการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติ หรือ NT (National Test) และการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET (Ordinary National Educational Test) แล้ว
- การปรับโครงสร้างเวลาเรียนทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาใหม่  โดยมีรายละเอียดดังนี้
     ระดับประถมศึกษา  เดิมกำหนดเวลาเรียนไว้ไม่น้อยกว่า 1,000 ชั่วโมงต่อปี แต่ในความเป็นจริงใช้เวลาเรียนจริง 1,200-1,400 ชั่วโมงต่อปี จึงจะปรับโครงสร้างเวลาเรียนในห้องเรียนใหม่ ไม่เกิน 1,000 ชั่วโมงต่อปี หรือ 22 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อให้มีการจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะผู้เรียนในชั่วโมงที่เหลือ 8-13 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
 
     ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น  เดิมกำหนดเวลาเรียนไว้ไม่น้อยกว่า 1,200 ชั่วโมงต่อปี แต่ในความเป็นจริงใช้เวลาเรียน 1,400 ชั่วโมงต่อปี จึงจะปรับโครงสร้างเวลาเรียนในห้องเรียนใหม่ ไม่เกิน 1,200 ชั่วโมงต่อปี หรือ 27 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อให้สามารถจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะผู้เรียนในชั่วโมงที่เหลือ 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

2. 
กระบวนการจัดการเรียนรู้
ซึ่งจะแบ่งการดำเนินงาน ออกเป็น 3 ส่วน คือ

จำนวนสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ  โดยในขณะนี้มีโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ที่มีความพร้อมสมัครเข้าร่วมโครงการหลากหลายระดับ (ข้อมูล ณ วันที่ 22 กันยายน 2558 พบว่า มีโรงเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวนรวมทั้งสิ้น 2,948 โรงเรียน แบ่งเป็นโรงเรียนสังกัด สพป. 2,602 โรงเรียนจาก 137 เขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียนสังกัด สพม. 346 โรงเรียนจาก 32 เขตพื้นที่การศึกษา) คือ โรงเรียนอนุบาลจังหวัด โรงเรียนอนุบาลอำเภอ โรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ตลอดจนโรงเรียนขยายโอกาสและโรงเรียนวัตถุประสงค์พิเศษ
- ครู  ขณะนี้ สพฐ.ได้เตรียมการที่จะเตรียมความพร้อมให้กับครูใน 2 ส่วน คือ 1) การอบรม (Workshop) โรงเรียนนำร่องจัดการเรียนรู้สู่ “การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ภาคเรียนที่ 2/2558 ใน 6 พื้นที่ เป็นเวลา 2 วัน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร พิษณุโลก อุดรธานี สงขลา  อุบลราชธานี และเชียงใหม่ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับครู 2) จัด Smart Trainer  จำนวน 300 ทีม เพื่อเป็นทีมพิเศษลงไปดูแลให้ความช่วยเหลือครูในแต่ละโรงเรียนในสัดส่วน 1 ทีมต่อ 10 โรงเรียน ซึ่งทีมนี้เปรียบเสมือนศึกษานิเทศก์ที่จะคอยให้ความดูแล ติดตาม ให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
 
- รูปแบบ/วิธีการจัดการเรียนรู้  กระทรวงศึกษาธิการได้ใช้ทฤษฎีการเรียนรู้ของเบนจามิน บลูม (Bloom et al, 1956) และคณะ ในการออกแบบการจัดการเรียนรู้แก่ผู้เรียน ซึ่งได้จำแนกจุดมุ่งหมายการเรียนรู้ออกเป็น 3 ด้าน คือ 1) ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) หรือสมองที่จะต้องฝึกให้เด็กรู้จักคิดตามหลักการการพัฒนาสมองของเด็กแต่ละช่วงวัย 2) ด้านเจตพิสัย (Affective Domain) หรือหัวใจ ที่จะต้องปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ความมีวินัย ความเป็นชาติไทย รักสถาบันพระมหากษัตริย์ รู้จักสิทธิและหน้าที่ ฝึกให้มีทัศนคติที่ถูกที่ควร 3) ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) หรือมือ ก็คือการฝึกให้มีทักษะจากการปฏิบัติ
 
Head - Heart - Hand
สอดคล้องกับแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการจะผลิตกำลังสายอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น ทำให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่อาจจะไปเรียนต่อสายอาชีวะ มีกระบวนการได้เรียนรู้ตัวเอง นอกจากนี้ทฤษฎีดังกล่าวยังสอดคล้องกับพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เกี่ยวกับองค์ 4 แห่งการจัดการศึกษา ซึ่งประกอบด้วย พุทธิศึกษา จริยศึกษา หัตถศึกษา และพลศึกษา
โดยมีรูปแบบ/วิธีการจัดการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมนอกห้องเรียน แบ่งเป็น 3 หมวด คือ
- สร้างเสริมสมรรถนะและการเรียนรู้  ซึ่งมีกลุ่มกิจกรรมพัฒนาด้านการสื่อสาร การคิด การแก้ปัญหา การใช้เทคโนโลยี การเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ อาทิ กิจกรรมสนุกกับภาษาไทย หุ่นยนต์วิเศษ กลคณิตศาสตร์ เที่ยวไกลไร้พรมแดน นิทานหรรษา เป็นต้น

 
 
- สร้างเสริมคุณลักษณะและค่านิยม ซึ่งมีกลุ่มกิจกรรมปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึกการทำประโยชน์ต่อสังคม ปลูกฝังความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ปลูกฝังและสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทย อาทิ กิจกรรมมือปราบขยะ ตามรอยพ่อ ลูกเสือเนตรนารี ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์ ภูมิใจในบ้านเกิด เป็นต้น
 
- สร้างเสริมทักษะการทำงาน การดำรงชีพ และทักษะชีวิต ซึ่งมีกลุ่มกิจกรรมตอบสนองความสนใจ ความถนัด และความต้องการของผู้เรียนตามความแตกต่างระหว่างบุคคล ฝึกการทำงาน ทักษะทางอาชีพ และอยู่อย่างพอเพียง พัฒนาความสามารถด้านการใช้ทักษะชีวิต สร้างเสริมสมรรถนะทางกาย อาทิ กิจกรรมร้องได้ ร้องดี ชีวีมีสุข ร้อยลูกปัด คู่ Buddy พี่รหัส วันกีฬาครอบครัว เป็นต้น
 
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการเตรียมจะจัดประชุมสัมมนาผู้แทนหน่วยงานและองค์กร ที่จะร่วมจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับเด็กนักเรียนและสถานศึกษา ในวันจันทร์ที่ 28 กันยายน 2558 เวลา 10.00 น. ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย กลุ่มศิลปินดารา ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (กรอ.อศ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บริษัทเอกชนที่จัดทำโครงการรับผิดชอบต่อสังคมและ สิ่งแวดล้อมขององค์กร (CSR) ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการประชุมร่วมกับหน่วยงานและครูแล้ว จะทำให้มีกิจกรรมเรียนรู้เพิ่มขึ้นจากที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเชื่อว่าทุกกิจกรรมจะตอบโจทย์ Head (สมอง) Heart (หัวใจ) และ Hand (มือ) ตามแต่ละช่วงวัยของผู้เรียนทั้งสิ้น

3) การวัดและประเมินผล
แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การประเมินทางวิชาการต่างๆ ซึ่งได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่มีผลกระทบอย่างแน่นอน ส่วนการประเมินความสำเร็จของโครงการ จะมีการประเมินระหว่างเทอม 2 ครั้ง และประเมินหลังปิดเทอม 1 ครั้ง
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวย้ำว่า ในเรื่องของการประเมินผลเป็นเรื่องใหญ่ที่ให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นตัวชี้ให้เห็นว่าส่วนใดสำเร็จ และมีส่วนใดที่ยังล้มเหลว จึงได้มอบให้ สพฐ. รวบรวมหัวข้อในการประเมินทั้งหมดมานำเสนอ ทั้งในส่วนการประเมินด้านวิชาการ และการประเมินความสุขของนักเรียน ผู้ปกครอง และครู เพื่อจะได้นำมาเป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหาต่างๆ พร้อมทั้งต้องตอบโจทย์ปัญหาด้านการศึกษาด้วย เช่น เด็กไทยเรียนมากและมีการบ้านจำนวนมาก ทำให้พ่อแม่และเด็กมีความเครียด ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กไทยไม่ดีขึ้น เด็กไทยขาดทักษะชีวิต ขาดระเบียบวินัย เป็นต้น
ทั้งนี้ หากจำเป็นที่จะต้องนำบุคคลที่สามหรือหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญมาเป็นผู้ประเมิน ก็ต้องทำ เพื่อให้ได้คำตอบของการดำเนินงานที่ชัดเจน แต่จะต้องพิจารณาถึงรายละเอียดของวิธีการประเมินก่อนว่า เป็นการสร้างภาระให้กับครูหรือไม่อย่างไร ซึ่งในความเป็นจริงก็คงจะต้องมีภาระอยู่บ้าง แต่ไม่ควรจะมากเกินไป
ในส่วนการประเมินของครู ให้ความสำคัญและมีความเห็นใจมาก เพราะครูจะต้องได้รับการประเมินต่างๆ ที่ล้วนเป็นภาระกับครูทั้งสิ้น อีกทั้งยังมีครูบางคนที่เป็นครูที่เก่ง ครูดีในพื้นที่ห่างไกล และเป็นที่รักของลูกศิษย์ แต่อาจจะสอบไม่เป็น จึงจำเป็นที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องพัฒนาวิธีการประเมินครูในรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากการสอบที่ไม่ควรสร้างภาระให้กับครูมากจนเกินไป โดยเตรียมที่จะพัฒนาการประเมินครูทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นที่ "ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน" เป็นส่วนสำคัญของการประเมินด้วย

4) การทบทวนหลังการปฏิบัติ (AAR)
โดยจะดำเนินการทันทีหลังปิดเทอม เพื่อประมวลและรวบรวมปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ จากการดำเนินโครงการ ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะครูและสถานศึกษา เพื่อนำระบบ AAR (After Action Review) มาทบทวน ปรับปรุง แก้ไข ในการวางแผนดำเนินโครงการในปีการศึกษา 2559 ตลอดจนมีการศึกษารูปแบบการจัดการของโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ เพื่อขยายไปยังโรงเรียนที่เหลือต่อไปด้วย

นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
22/9/2558

กราฟิก คณะทำงาน รมช.ศธ.
ที่มา : http://www.moe.go.th/websm/2015/sep/319.html


เพิ่มเพื่อน

รับแนวข้อสอบผ่าน Line ทุกวัน ..