วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2558

1.2 นโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา



นโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘

๕ นโยบายทั่วไป ๗ นโยบายเฉพาะ ๑๐ นโยบายเร่งด่วน


๕ นโยบายทั่วไป
๑. การพัฒนาและปฏิรูปการศึกษา จะต้องยึดหลักการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจ และความต้องการของทุกภาคส่วนในสังคม มีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งเป็นไปตามกระบวนการของสภาปฏิรูปแห่งชาติและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และแนวนโยบายของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้การดำเนินงานเป็นที่ยอมรับและเกิดความมั่นคงยั่งยืนในระบบการศึกษาของไทย
๒. การสร้างโอกาสทางการศึกษาในสังคมไทย จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยการน้อมนำแนวทางการพัฒนาระบบการจัดการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มได้มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ได้โดยสะดวก และสามารถพัฒนาและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างเท่าเทียม
๓. การพัฒนาระบบการจัดการศึกษาและการพัฒนาหลักสูตรทางการศึกษา จะต้องให้ความสำคัญกับการยกระดับความรู้ให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และปลูกฝังคุณธรรม การสร้างวินัย ปลูกฝังอุดมการณ์ความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ การมีจิตสาธารณะ ความตระหนักถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าส่วนตน และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในหลักการประชาธิปไตย เคารพความคิดเห็นของผู้อื่น ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิด อุดมการณ์ และความเชื่อ รวมทั้งรู้คุณค่าและสืบสานวัฒนธรรมและขนบประเพณีอันดีงามของไทย
๔. การส่งเสริมและยกสถานะของครูซึ่งเป็นบุคลากรหลักในระบบการศึกษา จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงในสังคม เป็นบุคลากรที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม มีภูมิความรู้และทักษะในการสื่อสารถ่ายทอดความรู้ที่เหมาะสม มีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพครู ตลอดจนมีฐานะและคุณภาพชีวิตที่ดีสอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมไทยในปัจจุบัน
๕. การบริหารและการปฏิบัติราชการกระทรวงในทุกระดับ จะต้องให้ความสำคัญกับการบูรณาการการปฏิบัติของทุกหน่วยงานในสังกัดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและประสานสอดคล้องกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ปราศจากการทุจริตคอรัปชั่น ตลอดจนให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับงานด้านการศึกษาที่ถูกต้อง รวดเร็ว และตรงกับความต้องการของสังคม

๗ นโยบายเฉพาะ (ดำเนินการให้เห็นผลใน ๑ ปี)
๑. การพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๑.๑ การพัฒนาการศึกษาและพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษามีความเหมาะสมกับพื้นที่
๑.๒ สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยอาศัยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ และแก้ไขปัญหาการอ่านภาษาไทยไม่ออกและเขียนไม่ได้ของนักเรียนในพื้นที่อย่างจริงจัง
๑.๓ สามารถพัฒนาระบบการให้ค่าตอบแทน สิ่งจูงใจและสวัสดิการ สำหรับบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่เสี่ยงภัยได้อย่างเหมาะสม
๑.๔ มีมาตรการด้านความปลอดภัยที่ชัดเจนสำหรับนักเรียนนักศึกษา ครูอาจารย์ และสถานศึกษาโดยการบูรณาการแผนและการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่
๑.๕ มีกิจกรรมสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาและการจัดการศึกษาโรงเรียนเอกชนในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมทั้งกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ เพิ่มพูนประสบการณ์ เปิดโลกทัศน์และสร้างความหวัง การยึดมั่นในหลักคุณธรรมและสถาบันหลักของชาติ ให้กับนักเรียนนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง
๑.๖ สามารถเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับองค์การระหว่างประเทศโดยเฉพาะองค์การสหประชาชาติและยูเนสโก ประเทศกลุ่มประชาชาติมุสลิม ประเทศเพื่อนบ้าน และสื่อมวลชน อย่างต่อเนื่อง

๒. การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.๒๕๕๘ และการดำรงความต่อเนื่องภายหลังการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๒.๑ โครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาของภาครัฐและเอกชน นักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา มีความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.๒๕๕๘
๒.๒ มีกิจกรรมการเรียนรู้ ขยายความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือทางการศึกษา และการแลกเปลี่ยนทางการศึกษา กับประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างต่อเนื่อง
๒.๓ สามารถพัฒนาและเสริมทักษะด้านภาษาอังกฤษและภาษาประเทศสมาชิกอาเซียน สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียน การยอมรับในความแตกต่างหลากหลายในลักษณะพหุสังคมวัฒนธรรม และให้ความเคารพในอุดมการณ์ความเชื่อบนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ให้กับนักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาทุกระดับ ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

๓. การพัฒนาศักยภาพการแข่งขันและสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๓.๑ มีแนวทางการส่งเสริมและดำเนินการเพื่อปรับสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาและสามัญศึกษาให้เหมาะสมกับความต้องการกำลังคนในตลาดแรงงานรองรับการพัฒนาประเทศ
๓.๒ มีแนวทางการพัฒนาหลักสูตร ระบบการจัดการศึกษา และบุคลากรทางศึกษา รองรับทิศทางการพัฒนาประเทศโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นฐานการพัฒนา
๓.๓ มีกิจกรรมที่เป็นการส่งเสริมการวิจัย พัฒนา และการสร้างนวัตกรรมในสถาบันทางการศึกษา เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
๓.๔ มีแผนงานและโครงการเพื่อส่งเสริมการผลิตกำลังคนด้านการอาชีวศึกษาตอบสนองต่อภาคการผลิตสินค้าและอาหาร ภาคการท่องเที่ยว ภาคการบริการ ภาคการขนส่ง บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล และอื่น ๆ ในสาขาที่มีความขาดแคลน ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการจัดทำความตกลงร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนการผลิต การพัฒนาระบบการจัดการ และการพัฒนากำลังคน ทั้งระบบ
๓.๕ มีกิจกรรมเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการเผยแพร่ความรู้และการพัฒนาต่อยอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ วิสาหกิจ การประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจ ควบคู่ไปกับการเผยแพร่องค์ความรู้และแนวทางการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับการดำเนินชีวิตประจำวันในการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบอย่างเป็นรูปธรรม

๔. การมุ่งเน้นการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพ

เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๔.๑ มีแนวทางการพัฒนาระบบการผลิตครูให้เพียงพอต่อความต้องการและเหมาะสมกับอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และปรับระบบการรับรองมาตรฐานวิชาชีพครูให้เอื้อต่อการเพิ่มโอกาสให้มีบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ที่เหมาะสมเข้ามาในระบบการศึกษา
๔.๒ ระบบการบริหารงานบุคคล การย้ายบรรจุ และการประเมินวิทยฐานะของครูและบุคลากรทางการศึกษา มีมาตรฐานระดับสากล สามารถเพิ่มศักยภาพในการให้การศึกษาและลดภาระงานที่ไม่จำเป็นรวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานตามภารกิจหลัก
๔.๓ ครูและบุคลากรทางการศึกษามีจิตวิญญาณของความเป็นครู การเป็นครูมืออาชีพ และยึดมั่นในจรรยาบรรณของวิชาชีพ
๔.๔ สามารถกำหนดแนวทางการพัฒนาตามเส้นทางวิชาชีพและความก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้อย่างเป็นระบบ มีระบบสนับสนุนการพัฒนาตนเองและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ในการระบบคลังความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการประเมินผล อย่างเป็นรูปธรรม
๔.๕ มีแผนงานและโครงการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา โดยการพัฒนาระบบสวัสดิการที่มุ่งการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือที่ยั่งยืน และให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างเป็นระบบ

๕. การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาให้ทันสมัย

เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๕.๑ น้อมนำแนวทางการพัฒนาระบบการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นหลักในการดำเนินแผนงานและโครงการในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
๕.๒ การดำเนินแผนงานและโครงการในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา จะต้องพิจารณาถึงความพร้อมและความเหมาะสมกับหลักสูตรและระดับการเรียนการสอน ความคุ้มค่า ความจำเป็นในการลดอุปสรรคและเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ การยกระดับคุณภาพการศึกษา รวมทั้งความเท่าเทียมและครอบคลุมพื้นที่
๕.๓ มีแผนงานและโครงการในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนการเรียนการสอนอย่างเต็มรูปแบบ โดยขยายโรงเรียนนำร่องในการจัดทำห้องเรียน Smart Classroom ออกสู่ส่วนภูมิภาคมากขึ้น
๕.๔ สามารถใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการและบูรณาการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เครือข่ายต่าง ๆ เชื่อมโยงกับสถิติข้อมูลทางการศึกษา และประมวลผลข้อมูลที่จำเป็นสำหรับใช้ประกอบการตัดสินใจในการบริหารทรัพยากรทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

๖. การเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ของกระทรวงศึกษาธิการ

เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๖.๑ สามารถถ่ายทอดนโยบายพื้นฐานและนโยบายเร่งด่วนของคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับด้านการศึกษาลงสู่แผนปฏิบัติราชการประจำปี เพื่อให้การนำสู่การปฏิบัติสามารถดำเนินการได้อย่างชัดเจนและติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง
๖.๒ สามารถสื่อสารถ่ายทอดให้ทุกหน่วยงานและบุคลากรทุกระดับมีความรู้และความเข้าใจในสาระสำคัญของแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘ และพัฒนาตัวชี้วัดที่ชัดเจนเพื่อประสิทธิภาพในการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ ภายในช่วงเดือนแรกของปีงบประมาณ เพื่อให้การปฏิบัติราชการในภาพรวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
๖.๓ หน่วยงานส่วนกลางสามารถให้การสนับสนุนทรัพยากรอย่างเพียงพอในการปฏิบัติราชการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ของหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่
๖.๔ มีระบบการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และการรายงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การได้ข้อมูลสารสนเทศที่ถูกต้องและรวดเร็ว เพื่อการทบทวนและปรับปรุงการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายได้ทันต่อเหตุการณ์
๖.๕ สามารถติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการปฏิบัติราชการและผลการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นรายไตรมาสได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถกำหนดมาตรการเพื่อปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานและแก้ไขปัญหาอย่างทันต่อสถานการณ์ มีระบบวิเคราะห์ประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณและจัดทำแผนเพิ่มประสิทธิภาพ รวมทั้งมีระบบการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด

๗.การดำเนินการตามแผนการศึกษาแห่งชาติและการปฏิรูปการศึกษา

เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๗.๑ มีความก้าวหน้าในการดำเนินการตามแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับปรับปรุง ครั้งที่ ๒ และเป็นไปตามเป้าหมายเมื่อสิ้นสุดแผนฯ ปี พ.ศ.๒๕๕๙ และสามารถดำเนินการจัดทำร่างแผนการศึกษาแห่งชาติในห้วงระยะเวลาต่อไป
๗.๒ มีแผนงานและโครงการในการจัดและส่งเสริมการศึกษา โดยเฉพาะการดำเนินการต่อเนื่องของการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบให้เชื่อมโยงกันทั้งการปฏิรูปหลักสูตรและการปฏิรูปการเรียนการสอนกับการเรียนรู้ยุคใหม่ ปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครู การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับการปฏิรูปการเรียนรู้ การยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่มาตรฐานสากล และการส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการจัดและสนับสนุนการศึกษา
๗.๓ สามารถติดตามรายละเอียดแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และแนวนโยบายของคณะรัฐมนตรี ได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถรายงานสรุปความก้าวหน้าเป็นรายไตรมาส รวมทั้งสามารถวางแนวทางรองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงโครงสร้าง ระบบงาน กฎหมาย ระบบการบริหารจัดการ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้อย่างเป็นระบบ



๑๐ นโยบายเร่งด่วน (ดำเนินการให้เห็นผลใน ๓ เดือน)

๑. เร่งสำรวจและให้ความช่วยเหลือเยียวยา รวมทั้งฟื้นฟูโรงเรียน สถานศึกษา นักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัย โดยเร็ว
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย : โรงเรียน สถานศึกษา นักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟู ให้สามารถทำการเรียนการสอนได้ตามปกติอย่างรวดเร็ว

๒. เร่งแก้ไขปัญหาความรุนแรงและเหตุทะเลาะวิวาทของนักศึกษาอาชีวะศึกษาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๒.๑ มีการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนและมีการปฏิบัติอย่างจริงจัง
๒.๒ ไม่มีเหตุทะเลาะวิวาทของนักศึกษาอาชีวะศึกษาจนส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั่วไป/จำนวนเหตุทะเลาะวิวาทของนักศึกษาอาชีวะศึกษาในช่วง ๓ เดือนลดลงอย่างชัดเจน

๓. เร่งสร้างค่านิยมอาชีวศึกษา ปรับภาพลักษณ์ และกำหนดมาตรการเพื่อจูงใจให้นักเรียนนักศึกษา พ่อแม่และผู้ปกครอง มีความยินดีและส่งเสริมให้บุตรหลานเข้ารับการศึกษาในสายอาชีพอาชีวศึกษาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะวิชาชีพที่ขาดแคลนและเป็นความต้องการของตลาดแรงงาน
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๓.๑ มีกิจกรรมเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของการศึกษาในสายอาชีพอาชีวศึกษาอย่างต่อเนื่อง
๓.๒ มีการกำหนดแผนงานหรือมาตรการเพื่อจูงใจในการเข้ารับการศึกษาสายอาชีพอาชีวศึกษา โดยเฉพาะวิชาชีพที่ขาดแคลน และมีระบบการติดตาม ควบคุม อย่างเป็นระบบและชัดเจน

๔. ทบทวนหลักสูตร การเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนากระบวนการคิด วิเคราะห์ มีเวลาทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถ ทักษะ และประสบการณ์ รวมทั้งปลูกฝังในเรื่องค่านิยมหลัก มีคุณธรรม จริยธรรม สร้างวินัย จิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม การยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความภาคภูมิใจในการเป็นคนไทย
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๔.๑ มีแนวทางปรับปรุงหลักสูตรให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนากระบวนการคิด ทักษะ ความสามารถอย่างรอบด้านทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคมสติปัญญา การปลูกฝังค่านิยม ๑๒ ประการ การเรียนรู้ประสบการณ์จากการทำกิจกรรม ฝึกปฏิบัติอย่างเหมาะสม แต่ละช่วงวัย และการวางพื้นฐานเพื่อการทำงาน การศึกษาเพื่ออาชีพ
๔.๒ นำร่องรูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาที่ดี และผลักดันกฎหมายที่จะเป็นรากฐานและกลไกการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาระยะยาว

๕. เร่งพิจารณาทบทวนการอุดหนุนรายหัวแก่นักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งของภาครัฐและเอกชน การช่วยเหลือค่าอุปกรณ์การเรียนของนักเรียนสายอาชีพ อาชีวศึกษา และการช่วยเหลือเด็กยากจน พิการ และด้อยโอกาส
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๕.๑ มีกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบและสามารถเสนอขออนุมัติ/เห็นชอบได้ตามขั้นตอนตามกฎหมายและกฎระเบียบที่กำหนด
๕.๒ สามารถให้การอุดหนุนและการช่วยเหลือมีความเหมาะสมกับสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

๖. เร่งขยายบทบาทของภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมในระบบการศึกษา โดยเฉพาะการจัดทำข้อตกลงระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจเอกชนในการให้การสนับสนุนและการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าทำงานหลังสำเร็จการศึกษา และการสนับสนุนอื่น ๆ ให้เพิ่มมากขึ้น
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๖.๑ มีแนวทางและมาตรการจูงใจภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในระบบการศึกษา
๖.๒ มีการจัดทำข้อตกลงกับผู้ประกอบการธุรกิจเอกชนในการให้การสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น

๗. เร่งปรับระบบการบรรจุครูและการรับรองมาตรฐานวิชาชีพครูให้เอื้อต่อการเพิ่มโอกาสให้มีบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ที่เหมาะสมเข้ามาในระบบการศึกษาเพิ่มมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูและบุคลากรอาชีวศึกษา และครูสาขาขาดแคลนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๗.๑ มีกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบและสามารถเสนอขออนุมัติ/เห็นชอบได้ตามขั้นตอนตามกฎหมายและกฎระเบียบที่กำหนด รวมถึงปรับแก้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ
๗.๒ สามารถปรับระบบการบรรจุครูและการรับรองมาตรฐานวิชาชีพครูให้เอื้อต่อการเพิ่มโอกาสให้มีบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์เข้ามาในระบบการศึกษาเพิ่มมากขึ้น

๘. เร่งทบทวนมาตรการการจัดกิจกรรมรับน้องของนักเรียนนักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และมาตรการติดตาม ควบคุม การลักลอบการจัดกิจกรรมรับน้องทั้งภายในและภายนอกสถาบันการศึกษา ให้เป็นไปในแนวทางที่สร้างสรรค์ ปลอดภัย ปราศจากการใช้ความรุนแรง การละเมิดและคุกคามทางเพศ รวมทั้งไม่ขัดต่อหลักศีลธรรมขนบประเพณีอันดีงาม และเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยให้มีผลบังคับใช้ให้ทุกสถาบัน การศึกษายึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๘.๑ มีกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบและสามารถเสนอขออนุมัติ/เห็นชอบได้ตามขั้นตอนตามกฎหมายและกฎระเบียบที่กำหนด
๘.๒ มีมาตรการและแนวทางที่ชัดเจนและมีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

๙. เร่งทบทวนมาตรการความปลอดภัยสำหรับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมทัศนศึกษานอกสถานศึกษา และมาตรการความปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่งเป็นหมู่คณะของนักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา โดยให้มีผลบังคับใช้ให้ทุกสถาบันการศึกษายึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๙.๑ มีกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบและสามารถเสนอขออนุมัติ/เห็นชอบได้ตามขั้นตอนตามกฎหมายและกฎระเบียบที่กำหนด
๙.๒ มีมาตรการและแนวทางที่ชัดเจนและมีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

๑๐. เร่งดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับด้านการศึกษาทั้งที่เป็นหน่วยรับผิดชอบหลักและหน่วยสนับสนุน ให้เห็นผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นไปตามเป้าหมายและกรอบระยะเวลาที่กำหนด
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :
๑๐.๑ มีการกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนที่ชัดเจน
๑๐.๒ มีการกำหนดตัวชี้วัด ค่าเป้าหมาย แผนงาน โครงการ และกิจกรรม รองรับอย่างเป็นรูปธรรม
๑๐.๓ มีระบบการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และการรายงานผลที่มีประสิทธิภาพ โดยสามารถรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง
๑๐.๔ มีระบบการวิเคราะห์และประมวลผล เพื่อกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบทางลบได้อย่างรวดเร็ว และสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนด
๑๐.๕ สามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัยต่อคณะรัฐมนตรีและสังคมได้อย่างรวดเร็ว



การขับเคลื่อนและกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย


๑. นโยบายทั่วไปเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานทั้งปวงของทุกหน่วยงานและบุคลากรในสังกัดของ ศธ.
๒. สป. ดำเนินการทบทวนตัวชี้วัด กลยุทธ์ และแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ในแผนปฏิบัติราชการประจำปี ๒๕๕๘ รองรับการดำเนินงานและการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัตินโยบายของคณะรัฐมนตรีและนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประจำปี (นโยบายเฉพาะและนโยบายเร่งด่วน) ออกแบบกระบวนการ กลไก และแนวทางการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล รวมทั้งสื่อสารถ่ายทอดให้หน่วยปฏิบัติได้รับทราบทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อให้การนำสู่การปฏิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนแรกของปีงบประมาณ ๒๕๕๘
๓. หน่วยปฏิบัติที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนและดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด
๔. สป. ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และรายงานสรุปนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศึกษาธิการ เพื่อกรุณาทราบผลการปฏิบัติตามนโยบาย รวมทั้งปัญหาอุปสรรค ข้อขัดข้อง และข้อเสนอแนะ ดังนี้
๔.๑ จัดทำรายงานและสรุปผลการปฏิบัติตามนโยบายเฉพาะ ในเดือนสุดท้ายทุกไตรมาสของปีงบประมาณ ๒๕๕๘ (ก่อนวันจันทร์สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ธ.ค.๕๗ และ มี.ค. มิ.ย. ก.ย.๕๘)
๔.๒ จัดทำรายงานและสรุปผลการปฏิบัติตามนโยบายเร่งด่วน ทุกเดือนตลอด ๓ เดือนแรกของปีงบประมาณ ๒๕๕๘ (ก่อนวันจันทร์สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ต.ค. พ.ย. และ ธ.ค.๕๗)
๔.๓ การจัดทำรายงานและสรุปผลการปฏิบัติ ตามข้อ ๔.๑ และ ๔.๒ อาจมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะมีการสั่งการให้ทราบเพื่อให้การดำเนินการเกิดความเหมาะสมต่อไป

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
กันยายน ๒๕๕๗

นโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๘ ดังนี้

๑. เร่งรัดปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบ และกระบวนการการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย ทันเหตุการณ์ ทันโลก ให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
๒. เร่งพัฒนาความแข็งแกร่งทางการศึกษา ให้ผู้เรียนทุกระดับทุกประเภทรวมถึงเด็กพิการ และด้อยโอกาส มีความรู้ และทักษะแห่งโลกยุคใหม่ควบคู่กันไปโดยเฉพาะทักษะการอ่าน เขียน และการคิด เพื่อให้มีความพร้อมเข้าสู่การศึกษาระดับสูง และโลกของการทำงาน
๓. เร่งปรับระบบสนับสนุนการจัดการศึกษา ที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน มีการประสานสัมพันธ์กับเนื้อหา ทักษะ และกระบวนการเรียนการสอนประกอบไปด้วย มาตรฐานและการประเมิน หลักสูตรและการสอน การพัฒนาทางวิชาชีพ สภาพแวดล้อม การเรียนรู้
๔. ยกระดับความแข็งแกร่งมาตรฐานวิชาชีพครูและผู้บริหารสถานศึกษา  ให้ครูเป็นผู้ที่มีความสามารถและทักษะที่เหมาะสมกับการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน ผู้บริหารสถานศึกษามีความสามารถในการบริหารจัดการ และเป็นผู้นำทางวิชาการ ครูและผู้บริหารสถานศึกษาประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน สร้างความมั่นใจและไว้วางใจ ส่งเสริมให้รับผิดชอบต่อผลที่เกิดกับนักเรียน ที่สอดคล้องกับวิชาชีพ
๕. เร่งสร้างระบบให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เป็นองค์กรคุณภาพที่แข็งแกร่ง และมีประสิทธิภาพ มีความสามารถรับผิดชอบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพ และมาตรฐานได้เป็นอย่างดี
๖. เร่งรัดปรับปรุงโรงเรียนให้เป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็ง มีแรงบันดาลใจและมีวิสัยทัศน์ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ชัดเจน เป็นสถานศึกษาคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ที่สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล
๗. สร้างระบบการควบคุมการจัดการการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา  ที่มีข้อมูล สารสนเทศ และข่าวสาร เกี่ยวกับกระบวนการเรียนการสอนอย่างพร้อมบริบูรณ์ และมีนโยบายการประเมินผลอย่างเป็นรูปธรรม
๘. สร้างวัฒนธรรมใหม่ในการทำงาน เร่งรัดการกระจายอำนาจและความรับผิดชอบ ปรับปรุงระบบของโรงเรียน ให้เป็นแบบร่วมคิดร่วมทำการมีส่วนร่วม และการประสานงาน สามารถใช้เครือข่ายการพัฒนาการศึกษาระหว่างโรงเรียนกับโรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรวิชาชีพกลุ่มบุคคล องค์กรเอกชน องค์กรชุมชน และองค์กรสังคมอื่น
๙. เร่งปรับระบบการบริหารงานบุคคล มุ่งเน้นความถูกต้อง เหมาะสมและเป็นธรรม ให้เป็นปัจจัยหนุนในการเสริมสร้างคุณภาพและประสิทธิภาพขวัญและกำลังใจ สร้างภาวะจูงใจ แรงบันดาลใจ และความรับผิดชอบในความสำเร็จตามภาระหน้าที่
๑๐. มุ่งสร้างพลเมืองดี ที่ตื่นตัว และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมพหุวัฒนธรรมได้และทำให้การศึกษานำการแก้ปัญหาสำคัญของสังคม
๑๑. ทุ่มเทมาตรการเพื่อยกระดับคุณภาพสถานศึกษาที่พัฒนาล้าหลังและโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่ได้คุณภาพ เพื่อไม่ให้ผู้เรียนต้องเสียโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ


ที่มา : สำนักนโยบายและแผน สพฐ.
สาระสำคัญ : นโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 มี 11 ประการ คลิิก

แนวทางการบริหารจัดการ เวลาเรียน"ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้"
ศึกษาธิการ - พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับความคืบหน้าแนวทางการบริหารจัดการเวลาเรียนตามนโยบาย "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ (Moderate Class More Knowledge)" เมื่อวันอังคารที่ 22 กันยายน 2558 ที่ห้องประชุม MOC โดยมีพันเอก ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการแถลงข่าว
 
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการที่กระทรวงศึกษาธิการได้เริ่มดำเนินการวางแนวทางการบริหารจัดการเวลาเรียน ตามนโยบาย "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ (Moderate Class More Knowledge)" มาตั้งแต่สมัยพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จนกระทั่งมีการหารือและดำเนินการตามแผนมาเป็นระยะ พบว่ามี 4 เรื่องหลักที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้โครงการมีความสมบูรณ์ ดังนี้

1. หลักสูตร
ยืนยันกับผู้ปกครอง นักเรียน และครู ว่าจะไม่มีการเปลี่ยนหลักสูตร แต่จะใช้วิธีปรับปรุงใน 2 ส่วน คือ
เนื้อหาภายในแต่ละวิชาที่มีความซ้ำซ้อนจะต้องตัดออกไป โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อตัวชี้วัด ซึ่งได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติฯ (สทศ.) ในฐานะผู้จัดการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติ หรือ NT (National Test) และการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET (Ordinary National Educational Test) แล้ว
- การปรับโครงสร้างเวลาเรียนทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาใหม่  โดยมีรายละเอียดดังนี้
     ระดับประถมศึกษา  เดิมกำหนดเวลาเรียนไว้ไม่น้อยกว่า 1,000 ชั่วโมงต่อปี แต่ในความเป็นจริงใช้เวลาเรียนจริง 1,200-1,400 ชั่วโมงต่อปี จึงจะปรับโครงสร้างเวลาเรียนในห้องเรียนใหม่ ไม่เกิน 1,000 ชั่วโมงต่อปี หรือ 22 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อให้มีการจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะผู้เรียนในชั่วโมงที่เหลือ 8-13 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
 
     ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น  เดิมกำหนดเวลาเรียนไว้ไม่น้อยกว่า 1,200 ชั่วโมงต่อปี แต่ในความเป็นจริงใช้เวลาเรียน 1,400 ชั่วโมงต่อปี จึงจะปรับโครงสร้างเวลาเรียนในห้องเรียนใหม่ ไม่เกิน 1,200 ชั่วโมงต่อปี หรือ 27 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อให้สามารถจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะผู้เรียนในชั่วโมงที่เหลือ 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

2. 
กระบวนการจัดการเรียนรู้
ซึ่งจะแบ่งการดำเนินงาน ออกเป็น 3 ส่วน คือ

จำนวนสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ  โดยในขณะนี้มีโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ที่มีความพร้อมสมัครเข้าร่วมโครงการหลากหลายระดับ (ข้อมูล ณ วันที่ 22 กันยายน 2558 พบว่า มีโรงเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวนรวมทั้งสิ้น 2,948 โรงเรียน แบ่งเป็นโรงเรียนสังกัด สพป. 2,602 โรงเรียนจาก 137 เขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียนสังกัด สพม. 346 โรงเรียนจาก 32 เขตพื้นที่การศึกษา) คือ โรงเรียนอนุบาลจังหวัด โรงเรียนอนุบาลอำเภอ โรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ตลอดจนโรงเรียนขยายโอกาสและโรงเรียนวัตถุประสงค์พิเศษ
- ครู  ขณะนี้ สพฐ.ได้เตรียมการที่จะเตรียมความพร้อมให้กับครูใน 2 ส่วน คือ 1) การอบรม (Workshop) โรงเรียนนำร่องจัดการเรียนรู้สู่ “การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ภาคเรียนที่ 2/2558 ใน 6 พื้นที่ เป็นเวลา 2 วัน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร พิษณุโลก อุดรธานี สงขลา  อุบลราชธานี และเชียงใหม่ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับครู 2) จัด Smart Trainer  จำนวน 300 ทีม เพื่อเป็นทีมพิเศษลงไปดูแลให้ความช่วยเหลือครูในแต่ละโรงเรียนในสัดส่วน 1 ทีมต่อ 10 โรงเรียน ซึ่งทีมนี้เปรียบเสมือนศึกษานิเทศก์ที่จะคอยให้ความดูแล ติดตาม ให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
 
- รูปแบบ/วิธีการจัดการเรียนรู้  กระทรวงศึกษาธิการได้ใช้ทฤษฎีการเรียนรู้ของเบนจามิน บลูม (Bloom et al, 1956) และคณะ ในการออกแบบการจัดการเรียนรู้แก่ผู้เรียน ซึ่งได้จำแนกจุดมุ่งหมายการเรียนรู้ออกเป็น 3 ด้าน คือ 1) ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) หรือสมองที่จะต้องฝึกให้เด็กรู้จักคิดตามหลักการการพัฒนาสมองของเด็กแต่ละช่วงวัย 2) ด้านเจตพิสัย (Affective Domain) หรือหัวใจ ที่จะต้องปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ความมีวินัย ความเป็นชาติไทย รักสถาบันพระมหากษัตริย์ รู้จักสิทธิและหน้าที่ ฝึกให้มีทัศนคติที่ถูกที่ควร 3) ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) หรือมือ ก็คือการฝึกให้มีทักษะจากการปฏิบัติ
 
Head - Heart - Hand
สอดคล้องกับแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการจะผลิตกำลังสายอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น ทำให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่อาจจะไปเรียนต่อสายอาชีวะ มีกระบวนการได้เรียนรู้ตัวเอง นอกจากนี้ทฤษฎีดังกล่าวยังสอดคล้องกับพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เกี่ยวกับองค์ 4 แห่งการจัดการศึกษา ซึ่งประกอบด้วย พุทธิศึกษา จริยศึกษา หัตถศึกษา และพลศึกษา
โดยมีรูปแบบ/วิธีการจัดการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมนอกห้องเรียน แบ่งเป็น 3 หมวด คือ
- สร้างเสริมสมรรถนะและการเรียนรู้  ซึ่งมีกลุ่มกิจกรรมพัฒนาด้านการสื่อสาร การคิด การแก้ปัญหา การใช้เทคโนโลยี การเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ อาทิ กิจกรรมสนุกกับภาษาไทย หุ่นยนต์วิเศษ กลคณิตศาสตร์ เที่ยวไกลไร้พรมแดน นิทานหรรษา เป็นต้น

 
 
- สร้างเสริมคุณลักษณะและค่านิยม ซึ่งมีกลุ่มกิจกรรมปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึกการทำประโยชน์ต่อสังคม ปลูกฝังความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ปลูกฝังและสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทย อาทิ กิจกรรมมือปราบขยะ ตามรอยพ่อ ลูกเสือเนตรนารี ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์ ภูมิใจในบ้านเกิด เป็นต้น
 
- สร้างเสริมทักษะการทำงาน การดำรงชีพ และทักษะชีวิต ซึ่งมีกลุ่มกิจกรรมตอบสนองความสนใจ ความถนัด และความต้องการของผู้เรียนตามความแตกต่างระหว่างบุคคล ฝึกการทำงาน ทักษะทางอาชีพ และอยู่อย่างพอเพียง พัฒนาความสามารถด้านการใช้ทักษะชีวิต สร้างเสริมสมรรถนะทางกาย อาทิ กิจกรรมร้องได้ ร้องดี ชีวีมีสุข ร้อยลูกปัด คู่ Buddy พี่รหัส วันกีฬาครอบครัว เป็นต้น
 
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการเตรียมจะจัดประชุมสัมมนาผู้แทนหน่วยงานและองค์กร ที่จะร่วมจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับเด็กนักเรียนและสถานศึกษา ในวันจันทร์ที่ 28 กันยายน 2558 เวลา 10.00 น. ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย กลุ่มศิลปินดารา ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (กรอ.อศ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บริษัทเอกชนที่จัดทำโครงการรับผิดชอบต่อสังคมและ สิ่งแวดล้อมขององค์กร (CSR) ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการประชุมร่วมกับหน่วยงานและครูแล้ว จะทำให้มีกิจกรรมเรียนรู้เพิ่มขึ้นจากที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเชื่อว่าทุกกิจกรรมจะตอบโจทย์ Head (สมอง) Heart (หัวใจ) และ Hand (มือ) ตามแต่ละช่วงวัยของผู้เรียนทั้งสิ้น

3) การวัดและประเมินผล
แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การประเมินทางวิชาการต่างๆ ซึ่งได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่มีผลกระทบอย่างแน่นอน ส่วนการประเมินความสำเร็จของโครงการ จะมีการประเมินระหว่างเทอม 2 ครั้ง และประเมินหลังปิดเทอม 1 ครั้ง
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวย้ำว่า ในเรื่องของการประเมินผลเป็นเรื่องใหญ่ที่ให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นตัวชี้ให้เห็นว่าส่วนใดสำเร็จ และมีส่วนใดที่ยังล้มเหลว จึงได้มอบให้ สพฐ. รวบรวมหัวข้อในการประเมินทั้งหมดมานำเสนอ ทั้งในส่วนการประเมินด้านวิชาการ และการประเมินความสุขของนักเรียน ผู้ปกครอง และครู เพื่อจะได้นำมาเป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหาต่างๆ พร้อมทั้งต้องตอบโจทย์ปัญหาด้านการศึกษาด้วย เช่น เด็กไทยเรียนมากและมีการบ้านจำนวนมาก ทำให้พ่อแม่และเด็กมีความเครียด ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กไทยไม่ดีขึ้น เด็กไทยขาดทักษะชีวิต ขาดระเบียบวินัย เป็นต้น
ทั้งนี้ หากจำเป็นที่จะต้องนำบุคคลที่สามหรือหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญมาเป็นผู้ประเมิน ก็ต้องทำ เพื่อให้ได้คำตอบของการดำเนินงานที่ชัดเจน แต่จะต้องพิจารณาถึงรายละเอียดของวิธีการประเมินก่อนว่า เป็นการสร้างภาระให้กับครูหรือไม่อย่างไร ซึ่งในความเป็นจริงก็คงจะต้องมีภาระอยู่บ้าง แต่ไม่ควรจะมากเกินไป
ในส่วนการประเมินของครู ให้ความสำคัญและมีความเห็นใจมาก เพราะครูจะต้องได้รับการประเมินต่างๆ ที่ล้วนเป็นภาระกับครูทั้งสิ้น อีกทั้งยังมีครูบางคนที่เป็นครูที่เก่ง ครูดีในพื้นที่ห่างไกล และเป็นที่รักของลูกศิษย์ แต่อาจจะสอบไม่เป็น จึงจำเป็นที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องพัฒนาวิธีการประเมินครูในรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากการสอบที่ไม่ควรสร้างภาระให้กับครูมากจนเกินไป โดยเตรียมที่จะพัฒนาการประเมินครูทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นที่ "ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน" เป็นส่วนสำคัญของการประเมินด้วย

4) การทบทวนหลังการปฏิบัติ (AAR)
โดยจะดำเนินการทันทีหลังปิดเทอม เพื่อประมวลและรวบรวมปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ จากการดำเนินโครงการ ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะครูและสถานศึกษา เพื่อนำระบบ AAR (After Action Review) มาทบทวน ปรับปรุง แก้ไข ในการวางแผนดำเนินโครงการในปีการศึกษา 2559 ตลอดจนมีการศึกษารูปแบบการจัดการของโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ เพื่อขยายไปยังโรงเรียนที่เหลือต่อไปด้วย

นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
22/9/2558

กราฟิก คณะทำงาน รมช.ศธ.
ที่มา : http://www.moe.go.th/websm/2015/sep/319.html


เพิ่มเพื่อน

รับแนวข้อสอบผ่าน Line ทุกวัน ..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น