วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2558

หลักสูตรและการพัฒนาหลักสูตร

พระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.. 2551 เน้นความสำคัญของการจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนการศึกษาแห่งชาติดังกล่าวข้างต้น โดยได้กำหนดแนวทางในการจัดการศึกษาไว้ รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาระบบทวิภาคี สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งมีภาระหน้าที่ในการจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพเพื่อพัฒนากำลังคนด้านวิชาชีพ ระดับฝีมือ ระดับเทคนิค และระดับเทคโนโลยี รวมทั้งเพื่อยกระดับการศึกษาวิชาชีพให้สูงขึ้นและสอดคล้องกับความต้องการของ ตลาดแรงงาน จึงได้กำหนดนโยบายในการยกระดับทักษะฝีมือและเตรียมความพร้อมแก่ กลุ่มเป้าหมายให้มีสมรรถนะที่ได้มาตรฐานสากล สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและการผลิตสินค้าและบริการที่มีการแข่งขันทั้งด้านคุณภาพ ปริมาณและ ระยะเวลาในการผลิต โดยพัฒนาระบบการจัดการอาชีวศึกษาตามแรงขับจากผู้ใช้ “Demand Driven” ภายใต้ความร่วมมือกันระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการซึ่งเป็นหน่วยที่ใช้ผลผลิตของอาชีวศึกษา เพื่อผลิตกำลังคนตามความต้องการของตลาดแรงงาน นำความรู้ในทางทฤษฎีอันเป็นสากลและภูมิปัญญาไทยมาพัฒนาผู้รับการศึกษาและฝึกอบรมให้มีความรู้ความสามารถในทางปฏิบัติ และมีสมรรถนะจนสามารถนำไปประกอบอาชีพในลักษณะผู้ปฏิบัติหรือประกอบอาชีพโดยอิสระได้เนื่องจากหลักสูตรเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ประกอบกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.. 2542 และพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.. 2551 ต้องการให้มีการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษาเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจึงเปิดโอกาสให้สถาบันการอาชีวศึกษาและสถานศึกษาสามารถพัฒนาหลักสูตรได้เอง โดยยึดกรอบมาตรฐานหลักสูตรอาชีวศึกษาที่กำหนด และเพื่อให้สอดคล้องกับการจัดการอาชีวศึกษาในรูปแบบอาศัยแรงขับจากผู้ใช้ หลักสูตรที่จะพัฒนาจะต้องเป็น หลักสูตรแบบฐานสมรรถนะ “Competency Based Curriculum” ซึ่งนำสมรรถนะที่ผู้ประกอบอาชีพปฏิบัติจริงในงานอาชีพจากมาตรฐานอาชีพหรือมาตรฐานสมรรถนะมาพัฒนาเป็นหลักสูตร เพื่อทำให้ผู้เรียนหรือผู้ฝึกมีสมรรถนะวิชาชีพที่ตรงกับสมรรถนะอาชีพสามารถประกอบอาชีพได้ทันที นอกจากนั้นจะเพิ่มสมรรถนะทั่วไปเพื่อเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต และสมรรถนะหลักเพื่อเป็นพื้นฐานที่สัมพันธ์กับวิชาชีพ ในด้านการสื่อสาร การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ การแก้ปัญหาพื้นฐาน การวิจัยเบื้องต้น พร้อมที่จะประกอบอาชีพได้ทันทีเมื่อจบการศึกษา ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศให้มีคุณภาพสูงขึ้น


แนวคิดหลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency-Based Approach)

สมรรถนะ (Competence) หมายถึง ความสามารถในการปฏิบัติ (Performance) ภายใต้เงื่อนไข (Condition) ใช้เครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ที่ระบุไว้ ให้ได้มาตรฐาน (Standard) ตามเกณฑ์การปฏิบัติ (Performance Criteria)  และมีหลักฐานการปฏิบัติ (Evidence) ให้ประเมินผลและตรวจสอบได้
หลักสูตรฐานสมรรถนะ จึง ยึดความสามารถ ของผู้เรียนเป็นหลัก  การออกแบบหลักสูตรตามแนวคิดนี้จะมีการกำหนดเกณฑ์ความสามารถที่ผู้เรียนพึงปฏิบัติ  ได้หลักสูตรที่เรียกว่า หลักสูตรเกณฑ์ความสามารถ จัดทำขึ้นเพื่อความแน่ใจว่าผู้ที่จบการศึกษาระดับหนึ่ง ๆ จะมีทักษะและความสามารถในด้านต่างๆ ตามที่ต้องการ  เป็นหลักสูตรที่ไม่ได้มุ่งเรื่องความรู้หรือเนื้อหาวิชาที่อาจมีความเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา  แต่จะมุ่งพัฒนาในด้านทักษะ ความสามารถ เจตคติและค่านิยม อันจะมีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันและอนาคตของผู้เรียนในอนาคต หลักสูตรนี้มีโครงสร้างแสดงให้เห็นถึงเกณฑ์ความสามารถในด้านต่าง ๆ ที่ต้องการให้ผู้เรียนปฏิบัติในแต่ละระดับการศึกษา และในแต่ละระดับชั้น ทักษะและความสามารถจะถูกกำหนดให้มีความต่อเนื่องกัน โดยใช้ทักษะและความสามารถที่มีในแต่ละระดับเป็นฐานสำหรับเพิ่มพูนทักษะและความสามารถในระดับต่อไป (ศ.ดร.ดำรง บัวศรี: 2535

ที่มาของหลักสูตรฐานสมรรถนะ
หลักสูตรฐานสมรรถนะ เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี  1970  ในประเทศสหรัฐอเมริกา  นิยมใช้ในการจัดหลักสูตรการฝึกอบรม (Competency-based Training)  เช่น  สหรัฐอเมริกา คานาดา อังกฤษ เกาหลี  ออสเตรเลีย  เพื่อควบคุมคุณภาพของบุคลากรในอาชีพต่าง ๆ เพื่อเพิ่มการแข่งขันกับนานาชาติ  เช่น ประเทศออสเตรเลียมี The National Training Board  เป็นผู้กำหนดมาตรฐานสมรรถนะระดับชาติ ( National Competency Standards)  ให้นโยบาย และแนวทางการการดำเนินงานฝึกอบรม โดยคาดหวังสิ่งที่ผู้เข้าอบรมจะสามารถปฏิบัติ (Performance) ได้เมื่อจบหลักสูตร เช่น การฝึกอบรมด้านภาษาอังกฤษเกี่ยวกับอาชีพต่าง ๆ เช่น ด้านอาหาร การโรงแรม ท่องเที่ยว ของ  TAFE  ประเทศออสเตรเลีย ก็จัดการฝึกอบรมแบบ  Competency Based Training in English Language Teaching  และได้ปรับปรุงพัฒนา มาตรฐานสมรรถนะของอาชีพต่าง ๆ  จนถึงปัจจุบัน  รวมถึงการเทียบความรู้และประสบการณ์ 
ปัจจุบันสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในหลายประเทศ ได้นำแนวทางการฝึกอบรมแบบฐานสมรรถนะ (Competency Based Training)  มาใช้กับการจัดการศึกษาระดับต่าง ๆ เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ  (Competency Based Curriculum) ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากผู้กำหนดนโยบาย และ ผู้นำด้านหลักสูตรของประเทศต่าง ๆ  อย่างกว้างขวาง  

ข้อดีของการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนแบบฐานสมรรถนะ
·        กำหนดผลการเรียนรู้อย่างชัดเจน ว่าผู้เรียนสามารถทำอะไรได้เมื่อจบหลักสูตร (Course Outcomes)
·       ใช้มาตรฐานสมรรถนะ เป็นกรอบในการพัฒนาหลักสูตร  วางแผนการจัดการเรียนการสอน ทำให้การเรียนการสอนเชื่อมโยงกับการประเมินผล และการรับรองคุณวุฒิ
·       มีเกณฑ์การปฏิบัติ (Performance Criteria) เพื่อใช้ในการประเมินผลผู้เรียนที่แน่นอน 

กรอบมาตรฐานสมรรถนะ
            มาตรฐานสมรรถนะ (Competency Standards)  เป็นข้อกำหนดความรู้ และทักษะ และนำความรู้และทักษะนั้น ๆ  ไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน โดยปฏิบัติงานให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด (Competency Standards reflect the specification of the knowledge and skill and the application of that knowledge and skill to the standard of performance required in employment)
            การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนในหลักสูตรแบบฐานสมรรถนะ จึงมีกรอบมาตรฐานสมรรถนะ เป็นตัวกำหนดความรู้ และ ทักษะ ที่คาดหวังว่าผู้เรียนจะสามารถปฏิบัติภาระงาน / กิจกรรมต่าง ๆ ได้เมื่อเรียนจบหลักสูตร  และสามารถวัดและประเมินผลได้ตามเกณฑ์การปฏิบัติที่กำหนด   องค์ประกอบของมาตรฐานสมรรถนะ ประกอบด้วย
·        หน่วยสมรรถนะ (Unit of Competence / Competency)  เป็นขอบข่ายกว้าง ๆ ของงาน (Job) ในอาชีพหนึ่ง ๆ ที่ต้องปฏิบัติ โดยใช้ความรู้และทักษะ หรือ อาจรวมถึงเจคติ
·        สมรรถนะย่อย (Element of Competence) เป็นภาระงาน (Task) ย่อยที่ประกอบขึ้นภายใต้งานในหน่วยสมรรถนะนั้น ๆ
·        เกณฑ์การปฏิบัติ (Performance Criteria) เป็นกิจกรรมย่อย ๆ (sub-task) ภายใต้สมรรถนะย่อย  ซึ่งเป็น
ผลการเรียนรู้ (Learning Outcomes) ที่คาดหวังว่าผู้เรียนจะสามารถปฏิบัติได้เมื่อเรียนจบหลักสูตร
·        เงื่อนไข/ขอบเขตการปฏิบัติ (Conditions /Range of Variables) การปฏิบัติภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด อาจ
รวมถึงวัสดุ (Materials) เครื่องมือ (Tools) หรือ อุปกรณ์ต่าง ๆ (Equipment) ที่กำหนดให้ (หรือไม่ให้ใช้) เพื่อให้การปฏิบัติงานนั้นสำเร็จ 
            เมื่อได้กรอบมาตรฐานสมรรถนะแล้ว  การจัดหลักสูตรการเรียนการสอน  การกำหนดเนื้อหา และกิจกรรมการเรียนการสอน จะสร้างขึ้นภายใต้กรอบมาตรฐานสมรรถนะที่กำหนด และจะเชื่อมโยงกับการวัดและประเมินผล ซึ่งอาจเรียกว่า การทดสอบวัดตามสมรรถนะ (Competency Test)

                การวิเคราะห์หน้าที่ในหนึ่งงาน/ หน่วยสมรรถนะ (Unit of Competency) จะมีองค์ประกอบ 3  ด้าน  คือ ความรู้  ทักษะ และ/หรือ เจตคติ  และมีภาระงานย่อย (Element of Competency) ที่กำหนดให้ปฏิบัติ   เป็นจุดประสงค์ของการปฏิบัติงาน (Performance Objective)  ดังตัวอย่าง งานการประกอบอาหาร (Cookery)  จะมีภาระงาน และ ภาระงานย่อย ๆ  ต้องสามารถปฏิบัติอะไรได้บ้าง ดังนั้น  การวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในหน่วยสมรรถนะนี้  ต้องกำหนดจุดประสงค์การปฏิบัติ (Performance Objective) หรือ จุดประสงค์การเรียนรู้  ว่าผู้เรียนต้องมีความรู้และทักษะอะไรบ้าง ในการปฏิบัติงานนี้   โดยคำนึงถึงเกณฑ์การปฏิบัติ  (Performance Criteria) หรือผลการเรียนรู้เป็นหลัก ซึ่งคาดหวังให้ผู้รับรอบรม หรือ ผู้เรียนสามารถทำได้เมื่อเรียนจบหน่วยนี้   การประเมินผลต้องเป็นไปตามเกณฑ์การปฏิบัติ ที่กำหนด


การประเมินผล สามารถใช้รูปแบบที่หลากหลาย ได้แก่ 
การสังเกต (Observation)
การสาธิตและตั้งคำถาม (Demonstration and questioning)
แบบทดสอบและข้อสอบอัตนัย (Pen and Paper Test and essays) ซึ่งใช้ประเมินด้านความรู้ 
การสอบปากเปล่า (Oral Test) 
การทำโครงงาน (Projects)
สถานการณ์จำลอง (Simulations)
แฟ้มผลงาน (Portfolios)
การประเมินผลโดยการใช้คอมพิวเตอร์ (Computer-based assessment) เป็นเครื่องมือในการสร้าง
แบบทดสอบและบันทึกผลได้

จากตัวอย่างที่แสดงข้างต้น  จะเห็นได้ว่า หน่วยสมรรถนะ  สมรรถนะย่อย เกณฑ์การประปฏิบัติ  การวางแผนกิจกรรมการเรียนการสอน  และการประเมินผล มีความสัมพันธ์สอดคล้องกันอย่างต่อเนื่อง จึงเรียกการจัดหลักสูตรฝึกอบรม หรือการจัดการเรียนการสอนที่ยึดความสามารถในการปฏิบัติของผู้เข้ารับการอบรมหรือผู้เรียนว่า หลักสูตรฐานสมรรถนะ

การฝึกอบรม และจัดการเรียนการสอนแบบฐานสมรรถนะ เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Learner- centeredness)
เชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์เดิมของผู้เรียนกับความรู้และประสบการณ์ใหม่ ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนได้ฝึกกิจกรรมในสถานการณ์จริง มีทักษะการคิด และแก้ปัญหา และบูรณาการกับการทำงานในสาขาอาชีพต่าง ๆ

กลวิธีการเรียนการสอน (Delivery Strategies)  มีหลากหลายวิธี ได้แก่
·        สื่อประเภท Audio-Visual Materials
·        การระดมสมอง (Brainstorming)
·        กรณีศึกษา (Case Study)
·        ประสบการณ์ทำงานร่วมกัน (Cooperative work Experience)
·        การสาธิต (Demonstration)
·        การอภิปราย (Discussion)
·        การฝึกซ้ำ ๆ (Drill)
·        ศึกษานอกสถานที่ (Field Trip)
·        กิจกรรมกลุ่ม (Group Work)
·        เชิญวิทยากรมาบรรยาย (Guest Speaker)
·        ชุดการเรียน (Modules/learning Packages)
·        การบรรยาย (Lecture)
·        ห้องปฏิบัติการแบบเปิด (Open Lab Sequences)
·        จัดอภิปรายโดยผู้ชาญการเฉพาะด้าน (Panel Discussions)
·        โครงงาน (Projects), เอกสารจากองค์กร บริษัท (Enterprise Papers), ผลงานต้นแบบ (Prototypes), โรงงานวิจัย (Research Projects),  แบบจำลองต่าง ๆ  (Models)
·        การถาม ตอบ (Questions and Answers)
·        การทบทวน/ ทำกิจกรรมเพิ่มเติม  (Review/ Reinforcement)
·        บทบาทสมมุติ (Role Playing)
·        เกมสถานการณ์จำลองSimulation Games
·        Text or Reference Assessment

คำศัพท์ที่ควรรู้และเกี่ยวข้องกับการจัดหลักสูตรฐานสมรรถนะ
            ดังที่กล่าวมาแล้วว่า การจัดหลักสูตรฐานสมรรถนะเน้น การปฏิบัติ (Performance) ของผู้เรียนเป็นสำคัญ  การจัดหลักสูตรตามแนวคิดนี้ จึงมักพบคำศัพท์ที่ใช้และมีความหมายต่าง ๆ ดังนี้
  • Performance Outcomes  (Elements of Competency)  หมายถึง การปฏิบัติที่คาดหวังที่ผู้เรียนต้องมีความรู้และปฏิบัติได้
  • Performance Standards (Performance Criteria) หมายถึง เกณฑ์การปฏิบัติ หรือ ตัวชี้วัดการปฏิบัติ (Performance Indicators) เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เรียนมีความสามารถ/สมรรถนะ ตามที่กำหนด เมื่อเรียนจบหลักสูตร
·        Performance Conditions  หมายถึง สิ่งที่จะจัดหรือไม่จัดให้กับผู้เรียน / ผู้ฝึกอบรม ได้แก่ เครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ ฯ สำหรับใช้ในการประเมินการปฏิบัติ (Performance Assessment)
·        Performance Based Assessment  หมายถึง ผู้เรียนถูกคาดหวังวังว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้าง เมื่อเรียนจบหลักสูตรเพื่อวัดสมรรถนะ (Competencies) ของผู้เรียน และต้องแสดง หลักฐาน (Evidence) การปฏิบัติ และอาจรวมหลักฐานด้านความรู้ไว้ด้วย  ซึ่งแตกต่างจากการประเมินแบบเดิม (Traditional Assessment) มักจะใช้การสอบปลายภาค (Final Examination) คิดคะแนนเป็นร้อยละ เพื่อกำหนดเกณฑ์การผ่าน หรืออาจมีการตัดสินแบบใช้กลุ่มเป็นเกณฑ์การตัดสิน เพื่อตัดสินว่าผู้เรียนทำได้ดีเพียงใด  


นิยามศัพท์

สมรรถนะ(Competency) หมายถึง ความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้ ความเข้าใจ ทักษะปฏิบัติ และทักษะด้านความคิดในการปฏิบัติงานให้มี ประสิทธิผลตามมาตรฐานที่ต้องการของอาชีพ ซึ่งนิยมเขียนในรูปแบบของผลสัมฤทธิ์

มาตรฐานสมรรถนะ (Competency Standard) หรือ มาตรฐานอาชีพ (Occupational Standard)
หมายถึง ข้อกำหนดหรือเกณฑ์ของการปฏิบัติงานที่คาดหวังว่า บุคลากรจะบรรลุสำหรับอาชีพหนึ่ง ซึ่งมักจะระบุทั้งที่เป็นการ ปฏิบัติและเป็นผลลัพธ์ของการปฏิบัติ

คุณวุฒิวิชาชีพ (Vocational Qualification : VQ) หมายถึง การรับรองระดับความรู้ความสามารถหรือระดับสมรรถนะ ในการปฏิบัติงาน ให้แก่ผู้ที่ผ่านการประเมินตามข้อกำหนดของ มาตรฐานอาชีพ (Occupational Standard)

คุณวุฒิการศึกษาวิชาชีพ(General Vocational Qualification : GVQ) หมายถึง การรับรองระดับความรู้ความสามารถและเจตคติที่เกิดจากการเรียนรู้ ฝึกหัด อบรมจากการศึกษาอาชีวศึกษา ซึ่งผู้ที่จะได้รับคุณวุฒิการศึกษาวิชาชีพจะต้องสำเร็จการศึกษาวิชาชีพตามหลักเกณฑ์ที่หลักสูตรกำหนด

ทักษะหลักและทักษะทั่วไป (Key and Core Skills) หมายถึง ทักษะสำคัญเพื่อการดำรงชีวิต ประกอบด้วย การสื่อสารการประยุกต์ใช้ตัวเลข เทคโนโลยีสารสนเทศ การแก้ปัญหา การทำงานร่วมกับผู้อื่น การพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

การวิเคราะห์หน้าที่ (Functional Analysis) หมายถึง กระบวนการวิเคราะห์หน้าที่ของการทำงานออกมาเป็นลำดับชั้น (Hierarchy) ซึ่งใช้อธิบายหรือแสดงถึงหน่วยสมรรถนะและสมรรถนะย่อยที่ผู้ปฏิบัติงานในอาชีพต้องทำ

ความมุ่งหมายหลัก (Key Purpose)เป็นคำบรรยายที่แสดงลักษณะ และขอบเขตของหน้าที่งานในอาชีพ
ที่ได้จากการวิเคราะห์หน้าที่ในภาพรวมอย่างกว้างๆ โดยจะเขียนในลักษณะของความมุ่งหมายที่สั้น กระชับ ไม่ขยายความมากเกินไป

บทบาทหลัก (Key Roles) เป็นคำบรรยายที่แสดงลักษณะและขอบเขตของหน้าที่งานในอาชีพ
ที่เกิดจากการแยกย่อยความมุ่งหมายหลักให้เกิดระดับชั้นที่ถัดลงมา

หน้าที่หลัก (Key Functions) เป็นคำบรรยายที่แสดงลักษณะและขอบเขตของหน้าที่งานในอาชีพ
ที่เกิดจากการแยกย่อยบทบาทหลักให้เกิดระดับชั้นที่ถัดลงมา เป็นชั้นที่ 3 ของผังแสดงหน้าที่

หน่วยสมรรถนะ (Unit of Competence) เป็นคำบรรยายผลลัพธ์ที่บุคลากรคนเดียว หรือเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม (Team) ที่มีสมรรถนะและรับผิดชอบ ซึ่งเป็นการแยกย่อยจากหน้าที่หลัก หรือเป็นการรวมกลุ่มสมรรถนะย่อยต่างๆ ที่สัมพันธ์เข้าด้วยกัน ในผังแสดงหน้าที่หน่วยสมรรถนะจะอยู่ต่อจากหน้าที่หลักและอยู่เหนือสมรรถนะย่อย

สมรรถนะย่อย (Element of Competence)
เป็นคำบรรยายผลลัพธ์ของงานที่บุคลากรแต่ละรายบุคคลต้องทำ ได้ ซึ่งงานที่ทำอาจเป็นงานที่ทำเพียงคนเดียวหรือทำเป็นกลุ่มสมรรถนะย่อยจะเป็นระดับสุดท้ายของผังแสดงหน้าที่ ซึ่งจะมี องค์ประกอบสนับสนุนคือ เกณฑ์การปฏิบัติงาน ขอบเขต หลักฐานและแนวทางการประเมิน

เกณฑ์การปฏิบัติงาน (Performance Criteria) เป็นข้อกำหนดหรือมาตรฐานที่ใช้ประเมินผลลัพธ์การทำงาน หรือคุณภาพการทำงานที่ยอมรับได้ ซึ่งถือเป็นหัวใจของสมรรถนะย่อยที่แสดงให้เห็นว่าคุณภาพของผลงานที่ปฏิบัตินั้นจะต้องประเมิน เรื่องใดบ้าง

ขอบเขต (Range) เป็นการระบุเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง หรือมีผลกระทบต่อผลลัพธ์ของ สมรรถนะย่อย ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความยากง่าย ความซับซ้อนที่ต้องใช้ในการทำงาน ได้แก่ ชนิด ลักษณะเครื่องมือ วัสดุที่ใช้ สภาวะการทำงาน เทคนิควิธีการทำงาน เป็นต้น

หลักฐานการปฏิบัติงาน (Performance Evidence) เป็นการระบุถึงทักษะหรือขั้นตอนกระบวนการที่จำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติงานให้เกิดผลงานหรือผลผลิตของแต่ละสมรรถนะย่อย

หลักฐานความรู้ (Knowledge Evidence)เป็นการระบุถึงรายละเอียดของความรู้ที่สนับสนุนให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ปฏิบัติงาน แต่ละสมรรถนะย่อยมีความรู้ความเข้าใจในงานที่ทำ

แนวทางการประเมิน (Assessment Guidance)เป็นข้อความที่ชี้แนะแนวทางในการประเมินสมรรถนะย่อย เพื่อช่วยให้ผู้เข้ารับการประเมินและผู้ประเมินมีความเข้าใจในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะระบุถึงวิธีการ เงื่อนไขและสภาพที่จะประเมิน

กรอบมาตรฐานหลักสูตร(Curriculum Standard) หมายถึง ข้อกำหนดแกนกลางที่ระบุถึงองค์ประกอบของหลักสูตรตั้งแต่ปรัชญา โครงสร้าง การบริหารจัดการ การแก้ไขและการอนุมัติหลักสูตร ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาหลักสูตร เพื่อรักษามาตรฐานวิชาการและวิชาชีพ และเป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์การรับรองวิทยฐานะและมาตรฐานการศึกษา ซึ่งจะทำให้การบริหารงานด้านวิชาการดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

กรอบคุณวุฒิการศึกษาวิชาชีพ (Vocational Education Qualification Framework)
หมายถึง ข้อกำหนดการจัดและแบ่งระดับคุณวุฒิผู้จบการศึกษาอาชีวศึกษา ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขั้นอุดมศึกษาและคุณวุฒิวิชาชีพ

มาตรฐานการศึกษาวิชาชีพ ระดับสาขาวิชา(Vocational Education Qualification Standard)
หมายถึง ข้อกำหนดแกนกลางที่ใช้เป็นมาตรฐานในการปรับปรุงหรือพัฒนาหลักสูตรสาขาวิชาของแต่ละระดับการศึกษา ที่ระบุถึงสมรรถนะทั่วไป สมรรถนะหลัก สมรรถนะวิชาชีพ คุณลักษณะที่พึงประสงค์ และโครงสร้างหลักสูตรสาขาวิชา

การเรียนแบบเปิด (Open Learning) หมายถึง การจัดการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนมีทางเลือกเกี่ยวกับวิธีการ
เรียนรู้จากสื่อที่หลากหลาย (เช่น สิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วีดิทัศน์แถบบันทึกเสียง สื่อ On-line ฯลฯ) สถานที่เรียน (เช่น บ้านสถานที่ทำงาน สถานศึกษา ฯลฯ) และเวลาเรียน ผู้เรียนจะต้องวางแผนและบริหารเวลาในการเรียนตามความพร้อมและความสามารถของตน เข้าเรียนเมื่อมีความพร้อม (open entry)และจบเมื่อมีสมรรถนะครบตามมาตรฐาน (open exit)

การเรียนแบบยืดหยุ่น (Flexible Learning)หมายถึง การจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีที่หลากหลาย ได้แก่ การ
เชื่อมโยงการเรียนรู้แบบเปิดกับแบบปกติ ใช้ปรัชญาผู้เรียนเป็นสำคัญ ยอมรับการเรียนรู้แบบต่างๆ ความเสมอภาคด้านหลักสูตรและวิธีสอน ความต้องการของผู้เรียน การใช้ทรัพยากรและสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อสนับสนุนนิสัยการเรียนรู้ตลอดชีวิต

การศึกษาในระบบ(Formal Education) เป็นการจัดการศึกษาวิชาชีพที่เน้นการศึกษาในสถานศึกษา-
อาชีวศึกษาหรือสถาบันเป็นหลัก โดยมีการกำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน

การศึกษานอกระบบ (Informal Education) เป็นการจัดการศึกษาวิชาชีพที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการศึกษา ระยะเวลา การวัดและประเมินผลที่เป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของแต่ละบุคคล แต่ละกลุ่ม

การศึกษาระบบทวิภาคี (Dual system) เป็นการจัดการศึกษาวิชาชีพที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างสถานศึกษาหรือสถาบันการอาชีวศึกษากับสถานประกอบการ หรือแหล่งวิทยาการ ในเรื่องการจัดหลักสูตร การเรียนการสอนการวัดและประเมินผล โดยผู้เรียนใช้เวลาส่วนหนึ่งในสถานศึกษาหรือสถาบันการอาชีวศึกษา และเรียภาคปฏิบัติในสถาน-ประกอบการหรือแหล่งวิทยาการ

ฝึกงาน (Workplace Training) หมายถึง การฝึกปฏิบัติงานในสถานประกอบการหรือแหล่ง-วิทยาการตามสาขาวิชาที่เรียน เพื่อให้ได้ประสบการณ์การทำงานรวมทั้งความเป็นอยู่ตามสาขาวิชาที่เรียน

ฝึกอาชีพ (On The Job Training) หมายถึง การฝึกปฏิบัติงานอาชีพในสถานประกอบการ หรือ
แหล่งวิทยาการ โดยสถานประกอบการนั้นเป็นผู้จัดการฝึกอบรม ให้เพื่อพัฒนาคนทำงานของตนเอง

สมรรถนะทั่วไป (Key Competence) หมายถึง สมรรถนะที่เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติสุขและมีคุณค่าในสังคม ซึ่งมักจะไม่เขียนรายละเอียดแยกออกมาเพราะส่วนมากจะเขียนควบคู่ไปกับสมรรถนะหลัก

สมรรถนะหลัก(Core Competence)หมายถึง สมรรถนะที่เป็นพื้นฐานสัมพันธ์กับวิชาชีพที่เป็นแกนสำคัญในการพัฒนาความรู้ ทักษะและพัฒนางานตลอดชีวิต การเขียนรายละเอียดมักจะเขียนรวมไว้กับสมรรถนะทั่วไป ได้แก่ทักษะในการสื่อสาร การคิดคำนวณ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศการปรับปรุงการเรียนรู้และการปฏิบัติงานของตนเอง การทำงานร่วมกับผู้อื่น และการแก้ปัญหา

สมรรถนะวิชาชีพ (Occupational competence) หมายถึง สมรรถนะที่ผู้เรียนนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ โดยประยุกต์ความรู้ ทักษะและกิจนิสัยมาสร้างผลงาน ซึ่งมักจะแสดงในรูปแบบของสมรรถนะย่อย (Element of competence) หรือกฤตกรรมปลายทาง (TPO)

มาตรฐานวิชาชีพ (Vocational Standard) หมายถึง ข้อกำหนดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของบุคคลด้านวิชาชีพ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการกำ กับ ดูแล ตรวจสอบประเมินผลและประกันคุณภาพผู้สำเร็จการศึกษาด้านอาชีวศึกษาซึ่งกำหนดมาจากมาตรฐานอาชีพ โดยการดำเนินการร่วมกันของบุคลากรทางการศึกษาและบุคลากรจากองค์กรทางวิชาชีพ

มาตรฐานการอาชีวศึกษา (Vocational Education Standard) หมายถึง ข้อกำหนดในการจัดการอาชีวศึกษาของสถานศึกษาเพื่อเป็นเกณฑ์ในการกำกับ ดูแล ตรวจสอบ ประเมินผล และประกันคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษา โดยใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานของสถานศึกษา อันเป็นกลไกสำคัญในการประกันคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษาให้มีประสิทธิภาพและบรรลุผลตามที่ต้องการ

การประกันคุณภาพการอาชีวศึกษา (Vocational Education Quality Assurance) หมายถึง การสร้างความมั่นใจว่าคุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษาได้เป็นไปตามมาตรฐานการอาชีวศึกษา ตรงกับความต้องการของผู้เรียนผู้ปกครอง ตลอดจนตลาดแรงงานและสังคม โดยมีองค์ประกอบในการดำเนินงาน ได้แก่ การควบคุมคุณภาพ การตรวจสอบคุณภาพ และการประเมินคุณภาพ


ตัวเลขแสดงระดับผลการเรียนในแต่ละรายวิชา ดังต่อไปนี้
๔.๐ หมายถึง ผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม
๓.๕ หมายถึง ผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีมาก
๓.๐ หมายถึง ผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี
๒.๕ หมายถึง ผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีพอใช้
๒.๐ หมายถึง ผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์พอใช้
๑.๕ หมายถึง ผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์อ่อน
๑.๐ หมายถึง ผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์อ่อนมาก
๐ หมายถึง ผลการเรียนตก
ข.ร. หมายถึง ขาดเรียน ไม่มีสิทธิเข้ารับการประเมินสรุปผลการเรียน เนื่องจาก
มีเวลาเรียนต่ำกว่าร้อยละ ๘๐ โดยสถานศึกษาพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ใช่เหตุสุดวิสัย
ข.ป. หมายถึง ขาดการปฏิบัติงาน หรือปฏิบัติงานไม่ครบ โดยสถานศึกษา
พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุผลสมควร
ข.ส. หมายถึง ขาดการประเมินสรุปผลการเรียน โดยสถานศึกษาพิจารณาแล้ว
เห็นว่าไม่มีเหตุผลสมควร
ถ.ล. หมายถึง ถอนรายวิชาภายหลังกำหนด โดยสถานศึกษาพิจารณาแล้วเห็นว่า
ไม่มีเหตุผลสมควร
ถ.น. หมายถึง ถอนรายวิชาภายในกำหนด
ท. หมายถึง ทุจริตในการสอบหรืองานที่มอบหมายให้ทำ
ม.ส. หมายถึง ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากไม่สามารถเข้ารับการประเมินครบทุกครั้ง หรือไม่ส่งงานอันเป็นส่วนประกอบของการเรียนรายวิชาตามกำหนดด้วยเหตุสุดวิสัย
ม.ท. หมายถึง ไม่สามารถเข้ารับการประเมินทดแทนการประเมินส่วนที่ขาด ของรายวิชาที่ไม่สมบูรณ์ภายในภาคเรียนถัดไป
ผ. หมายถึง ได้เข้าร่วมกิจกรรมตามกำหนดหรือผลการประเมินผ่าน

ม.ผ. หมายถึง ไม่เข้าร่วมกิจกรรม หรือผลการประเมินไม่ผ่าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น